รายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.ชี้ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์ในเศรษฐกิจญี่ปุ่น และทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับบีโอเจที่จะตัดสินใจว่า จะใช้นโยบายอย่างไร
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า ผลกระทบของสิ่งที่ไม่คาดคิดเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและซับซ้อน ซึ่งทำให้การตัดสินใจด้านนโยบายกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น
ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปลี่ยนนโยบายที่เป็นกลางในวันที่ 30 เม.ย. ท่ามกลางความเสี่ยงช่วงขาลงที่มีมากขึ้นต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยบีโอเจได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค. เช่นเดียวกับการประชุมเมื่อวันที่ 12-13 มิ.ย.
บอร์ดบีโอเจทั้ง 7 รายมีมุมมองเช่นเดียวกันว่า ยังมีความเสี่ยงช่วงขาลงมากสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงความผันผวนในเศรษฐกิจต่างประเทศและตลาดเงินทั่วโลก ดังนั้นจึงสมควรที่จะมีการตรวจสอบสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างระมัดระวังทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะมีการใช้นโยบายการเงินด้วยการลดแนวโน้มราคาผู้บริโภคลงด้วยการติดตามปัจจัยบ่งชี้ด้านราคาที่หลากหลายอย่างระมัดระวัง แต่คณะกรรมการบีโอเจรายหนึ่งระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหารอาจจะไม่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มด้านราคาที่แน่นอน
สำหรับเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น บอร์ดบีโอเจเห็นด้วยว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงชะลอตัว และปัญหาตลาดเงินโลกยังคงมีอยู่ ส่วนความเสี่ยงชาวงขาลงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกนั้นยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--