นายอลิสแตร์ ดาร์ลิง รัฐมนตรีคลังอังกฤษเตรียมปรับโครงสร้างสถาบันการเงินครั้งใหญ่ โดยจะมอบอำนาจให้กับธนาคารกลางอังกฤษในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินมากกว่าเดิม เพื่อให้แบงค์ชาติรับมือกับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบการธนาคาร ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของอังกฤษ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ รมว.คลังยังต้องสรรหาบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่แทนราเชล โลแม็กซ์ รองผู้ว่าการแบงค์ชาติที่จะเกษียณในช่วงสิ้นเดือนนี้ ขณะที่จอห์น กีฟ รองผู้ว่าการแบงค์ชาติก็วางแผนว่า จะลาออกจากตำแหน่งในปีหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายดาร์ลิงกล่าวปราศรัยว่า ความท้าทายสำหรับกระทรวงคลังอังกฤษก็คือการสร้างความเชื่อมั่นว่า ทางการจะสามารถลงมือแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินต่างๆ โดยมาตรการเหล่านี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงการปฏิรูปครั้งสำคัญในการรับมือกับความท้าทายต่างๆที่อังกฤษกำลังเผชิญอยู่
การประกาศลาออกของรองผู้ว่าการและการปรับโครงสร้างของแบงค์ชาติเกิดขึ้นหลังจากที่มีการออกมาวิจารณ์ผู้กำหนดนโยบายว่าเข้ามาช่วยธนาคารนอร์ทเธิร์น ร็อคล่าช้า หลังจากที่ธนาคารประสบปัญหาด้านธุรกิจสินเชื่อเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว โดยความนิยมในตัวของนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษก็ตกลงแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ผู้ฝากเงินที่สถาบันปล่อยกู้เพื่อการจำนองได้ถอนเงินฝากของตนเอง
นายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าการแบงค์ชาติอังกฤษ ซึ่งได้ออกมาแสดงความไม่พอใจกฎหมายของอังกฤษและยุโรปที่ขัดขวางความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้กับธนาคารนอร์ทเธิร์น ร็อคนั้น ขานรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเปิดทางให้ผู้ว่าการแบงค์ชาติมีอำนาจในการแก้วิกฤตการณ์
ผู้ว่าแบงค์ชาติกล่าวภายหลังจากการแถลงข่าวนายดาร์ลิงว่า ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะปฏิรูป เพื่อกำหนดกรอบการปฏิบัติงานของธนาคารให้สอดคล้องกับ ซึ่งเป็นโอกาสที่เราไม่ควรจะทิ้งไป
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--