นสพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จในการจัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทย โดยมีคอมพาร์ทเมนต์ที่ได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนก 11 คอมพาร์ทเมนต์ 7 บริษัท ประกอบด้วย
บริษัท สหฟาร์ม จำกัด จำนวน 2 คอมพาร์ทเมนต์, บริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด จำนวน 1 คอมพาร์ทเมนต์, บริษัท ฟู้ดฟอร์เดอะเวิล์ด จำกัด จำนวน 1 คอมพาร์ทเมนต์, บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 คอมพาร์ทเมนต์, บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จำนวน 3 คอมพาร์ทเมนต์, บริษัท กรุงเทพผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 คอมพาร์ทเมนต์, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด จำนวน 2 คอมพาร์ทเมนต์
โดยมีฟาร์มไก่เนื้อและเป็ดเนื้อจำนวนทั้งสิ้น 80 ฟาร์ม นับรวมจำนวนประชากรไก่เนื้อและเป็ดเนื้อ ทั้งหมด 35,050,600 ตัวต่อรุ่นการผลิต ซึ่งแบ่งเป็น ฟาร์มไก่เนื้อ 6 บริษัท จำนวน 10 คอมพาร์ทเมนต์ 76 ฟาร์ม นับรวมจำนวนประชากรไก่เนื้อทั้งหมด 34,739,000 ตัวต่อรุ่นการผลิต และฟาร์มเป็ดเนื้อ 1 บริษัท จำนวน 1 คอมพาร์ทเมนต์ 4 ฟาร์ม นับรวมจำนวนประชากรเป็ดเนื้อทั้งหมด 311,600 ตัวต่อรุ่นการผลิต
ทั้งนี้ ทางกรมปศุสัตว์จะเร่งรัดดำเนินการตรวจรับรองระบบคอมพาร์ทเมนต์ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยต่อไป และได้เดินทางไปเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยเมื่อวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเจรจาประเทศญี่ปุ่น และจะเจรจากับสหภาพยุโรป ในระหว่างวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2551 เพื่อเป็นช่องทางในการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดแช่แข็งของประเทศไทยต่อไป
เนื่องมาจากการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2547 ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวม ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งได้ มีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลง โดยในปี 2550 ประเทศไทยส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุก 322,000 ตัน เนื้อไก่สดแช่แข็งเพียง 11,098 ตัน ซึ่งในปี 2546 ประเทศไทยเคยส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งถึง 484,000 ตัน
กรมปศุสัตว์ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านสุขภาพสัตว์ และการผลิตสัตว์ของประเทศ ได้ใช้มาตรการและเทคนิควิชาการต่างๆ ในการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ซึ่งหนึ่งในมาตรการนี้ก็คือระบบคอมพาร์ทเมนต์ ซึ่งจะเป็นระบบมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มไก่เนื้อและฟาร์มเป็ดเนื้อ การควบคุม และการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนในคอมพาร์ทเมนต์ และการตรวจย้อนกลับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการนำเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้าไปแพร่ระบาดในฟาร์มที่อยู่ในคอมพาร์ทเมนต์
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/รัชดา/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--