นางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับ บมจ.ปตท.(PTT)กรณีการดูแลค่าใช้จ่ายติดตั้งถังก๊าซเอ็นจีวีในรถยนต์ว่า กรมการค้าภายในจะใช้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ดูแลกรณีที่ผู้ติดตั้งคิดราคาสูงเกินจริง เพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชน จะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในยังไม่มีแผนจะกำหนดราคาแนะนำถังก๊าซ NGV เพราะมีกลไกตลาดที่ควบคุมราคาได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มราคาถังก๊าซ NGV และค่าบริการติดตั้งจะลดลงได้ เนื่องจากความต้องการใช้สูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง
"มีการร้องเรียนว่า อู่คิดค่าบริการติดตั้งระบบถังเอ็นจีวีในราคาสูงถึง 70,000 บาท สวนทางกับความเป็นจริง เราสามารถดูแลในเรื่องสถานการณ์ราคาค่าติดตั้งเอ็นจีวีให้เกิดความเป็นธรรมโดยใช้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการได้ และจะส่งเรื่องให้อธิบดีฯ สั่งการเจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานให้บริการทันที โดยกรมฯจะดูแลตั้งแต่ราคาถังก๊าซ ค่าอุปกรณ์ติดตั้ง ค่าแรง และค่าดำเนินการ เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค" นางวัชรี กล่าว
นางวัชรี กล่าวว่า ค่าบริการติดตั้งรวมอุปกรณ์ฉลี่ยต่อรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่คันละ 41,000 บาทสำหรับระบบดูด และเฉลี่ย 61,000 บาทสำหรับระบบหัวฉีด แบ่งเป็น ค่าถังก๊าซขนาด 70 ลิตรเฉลี่ย 14,000 บาท ค่าอุปกรณ์ส่วนควบสำหรับระบบดูด 13,000 บาท ระบบฉีด 30,000 บาท ค่าบริการรวมกำไร 8,000-10,000 บาท รวมบริการหลังการขายประมาณ 1 ปี
ส่วนการดูแลหัวจ่ายก๊าซ NGV ไม่ให้ปั๊มน้ำมันจ่ายก๊าซไม่ตรงตามจำนวนนั้นยังไม่มีกฎหมายดูแลหัวจ่ายก๊าซโดยเฉพาะ มีแต่การดูแลหัวจ่ายน้ำมัน แต่กรมการค้าภายในได้ออกกฎกระทรวงดูแลเรื่องนี้แล้วภายใต้ พ.ร.บ.ชั่ว ตวง วัด พ.ศ.2542 คาดจะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า
ด้าน นายปุณณชัย ฟูตระกูล ผู้จัดการฝ่ายตลาดก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ กลุ่มธุรกิจสำรวจผลิตและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปตท.นำเข้าถังก๊าซและจำหน่ายโดยไม่คิดกำไร คิดเพียงค่าดำเนินการเล็กน้อย แต่ปัจจุบันมีเอกชนนำเข้าหลายราย ขณะที่ ปตท.จะลดบทบาทการให้บริการติดตั้งลง เพื่อให้กลไกธุรกิจดำเนินได้เอง ทำให้ภาพรวมต้นทุนต่างๆ ที่ภาคเอกชนดำเนินการจะสูงกว่า ปตท. ดังนั้นราคาค่าถังและค่าบริการต่างๆ จะไม่สามารถนำต้นทุนก่อนหน้านี้มาเปรียบเทียบได้
"ในระยะสั้นยอมรับว่าราคาถังเอ็นจีวีจะมีราคาขึ้นเล็กน้อยจากวัตถุดิบคือ ราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งราคาจะลดลงไปกว่าเดิมคงเป็นไปได้ยาก แต่ระยะยาวจะมีนักลงทุนในต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิตถังก๊าซกันมากขึ้น คาดว่าในปีหน้าจะเป็นรูปธรรม ซึ่งน่าจะช่วยมีราคาค่าถังที่ถูกลงได้บ้าง" นายปุณณชัย กล่าว
นายปุณณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณถังเอ็นจีวีมีเพียงพอต่อความต้องการ โดย ปตท.มีถังอยู่ในสต็อก 14,000 ถัง สามารถติดตั้งให้ลูกค้าได้จนถึงสิ้นปีนี้ และยังมีการนำเข้าจากภาคเอกชนอื่นอีก มั่นใจว่าจะเพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบันความต้องการติดตั้งของรถยนต์ส่วนบุคคลมีประมาณ 200 คันต่อวัน แต่ ปตท.เน้นให้บริการกับรถแท็กซี่ ซึ่งมีแผนให้รถเปลี่ยนจากแอลพีจีเป็นเอ็นจีวี ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 50,000 คัน
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--