เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค แสดงความเห็นว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลื่อนเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรวดเร็วสุดในรอบเกือบ 10 ปี จะทำให้ค่าเงินบาทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงให้กับต้นทุนการนำเข้าในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเช่นนี้
ค่าเงินบาทที่ร่วงลงราว 3% ในเดือนนี้เป็นสถิติที่ร่วงลงหนักสุดในบรรดา 11 สกุลเงินหลักๆในเอเชีย เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้กลุ่มกองทุนเทขายในตลาดหุ้นไทย โดยธปท.ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 1 วันเอาไว้ที่ 3.25% มาตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นสถิติที่พุ่งขึ้นถึง 2 เท่า และในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไทยมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเป็นสองเท่า
ซิง เบง ออง นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนในสิงคโปร์กล่าวว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทยควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (pre-emptive) ความเสี่ยงในขณะนี้ก็คือกระแสคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อและดุลการชำระเงินอันอ่อนแอที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอีก"
เจพีมอร์แกนคาดว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มร่วงลงแตะระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ภายในเดือนก.ย.นี้ จากระดับวานนี้ที่ 33.52 บาท/ดอลลาร์
เจิ้น ปิง โฮ นักยุทธศาสตร์ด้านปริวรรตเงินตราของเจพีมอร์แกนในสิงคโปร์กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาจากเหตุการณ์ประท้วงในประเทศไทยที่ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มปลีกตัวออกจากตลาด ซึ่งผู้ชุมนุมประท้วงต้องการให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำหน่ง
"สถานการณ์การเมืองของไทยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ไหลออกไปเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมานั้นธปท.มุ่งแต่แทรกแซงตลาดเงินเพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของดอลลาร์" เจิ้น ปิง โฮ กล่าว
นักลงทุนต่างชาติกระหน่ำขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยราว 3 หมื่นล้านบาท หรือ 895 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการขายสุทธิในวงเงินสูงสุดในรอบ 5 เดือน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--