ดอลลาร์นิวซีแลนด์-ออสเตรเลียแข็งค่าจากกระแสคาด FED ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 25, 2008 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นในช่วงเช้านี้ หลังมีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป  
เงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เนื่องจากเทรดเดอร์เชื่อว่าเฟดจะไม่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หลังสหรัฐรายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี ส่วนราคาบ้านเดือนเม.ย.ก็ร่วงลงอย่างหนัก
ขณะที่เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจอัตราดอกเบี้ยของนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ที่ 8.25% หรือสูงสุดในกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA
"สวนเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดูเหมือนว่าจะแข็งค่าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น" เรย์ แอททริล หัวหน้าฝ่ายวิจัยจากบริษัท Forecast Ltd. ในซิดนีย์ กล่าว "ตราบใดที่เฟดยังไม่สามารถกระตุ้นเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าได้ เงินดอลลาร์ออสเตรเลียก็จะแข็งค่าขึ้นต่อไป"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 10.59 น.ตามเวลาซิดนีย์ เงินดอลลาร์ออสเตรเลียทะยานแตะ 95.66 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย จาก 95.36 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อวานนี้ โดยเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่ากว่า 4.8% ในไตรมาสนี้ และ 9.3% ในปีนี้
เมื่อเทียบเงินเยน เงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าแตะ 103.35 เยนต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะขยับลงมาแตะ 103.13 เยนต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย จาก 102.97 เยนต่อดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อวานนี้ โดยเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่ากว่า 13.3% ในไตรมาสนี้ และ 5.5% ในปีนี้
เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าแตะ 75.87 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์ จาก 75.56 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์เมื่อวานนี้ โดยเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่าลง 3.5% ในไตรมาสนี้ และ 1% ในปีนี้
เมื่อเทียบเงินเยน เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าแตะ 81.82 เยนต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์ จาก 81.60 เยนต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์เมื่อวานนี้ โดยเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้น 4.4% ในปีนี้
ทั้งนี้ มีโอกาสราว 35% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นอย่างน้อย 0.25% ในเดือนส.ค. จากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีโอกาสราว 47%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ