IN FOCUS: เงินเฟ้อคุกคาม ศก.จ่อคิวถดถอย..วิกฤตทางสองแพร่ง วัดใจ FED ขึ้น-ไม่ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 26, 2008 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีทที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed funds rate) ไว้เท่าเดิมที่ 2.00% และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ที่ 2.25% เมื่อคืนนี้ 
แต่การที่เฟดแสดงความกังวลผ่านแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปานกลางในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคาดว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงจะเป็นปัจจัยลบที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐต่อไปในอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้านั้น ทำให้นักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดการณ์ว่า เฟดอาจตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในปีนี้ แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางรายมองลึกลงไปในท่าทีที่ยังไม่ชัดเจนของเฟดว่า เงินเฟ้อที่คุกคามในยามเศรษฐกิจที่จ่อคิวถดถอยเช่นนี้ เฟดจะผ่าทางตันด้วยวิธีใด ระหว่างการขึ้น และ ไม่ขึ้น อัตราดอกเบี้ย ในปีนี้
ควินซี ครอสบี นักวิเคราะห์จากบริษัทฮาร์ทฟอร์ดในสหรัฐ กล่าวว่า "เฟดมาถึงจุดพลิกผันที่ยากต่อการตัดสินใจ ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ ตลาดแรงงานที่ทรุดตัว ตลาดที่อยู่อาศัยที่ตกต่ำลง ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับเฟดด้วย หากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อก็จะยิ่งตอกย้ำเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลง แต่หากเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ย ตัวเลขเงินเฟ้อก็จะยิ่งลุกลามมากขึ้น"
เศรษฐกิจสหรัฐที่จ่อคิวถดถอยเช่นนี้ ส่งผลให้เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 ลงสู่ระดับ 0.3-1.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนที่ระดับ 1.3-2.0%
เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงทั้งสิ้น 3.25% เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ในตลาดซับไพรม์ จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของเฟดยืนอยู่ที่ระดับ 2.00% ทำให้นายไนเจล ลอว์สัน อดีตรมว.คลังอังกฤษได้ออกมาแสดงความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคงนั่งเสียใจที่ลดดอกเบี้ยหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้เงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง แต่เบอร์นันเก้สวนกลับด้วยท่าทีที่สุขุมกว่า ว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินของสหรัฐหลายครั้ง ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวขึ้นปานกลาง
ถึงกระนั้น เบอร์นันเก้ก็ยอมรับผ่านที่ประชุมที่รัฐแมสซาชูเสทเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงยังคงเป็นปัจจัยลบที่หน่วงเหนี่ยวการเติบโตของสหรัฐ และจะทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อไปอีกระยะหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการเฟดบางคนได้ออกมาส่งสัญญาณเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา นายริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการเฟดสาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยหากดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ พุ่งสูงขึ้น ขณะที่นายแกรี สเติร์น ผู้ว่าการเฟดสาขามินนิอาโพลิส และนายโธมัน โฮนิง ผู้ว่าการเฟดสาขาแคนซัสซิตี้ ได้แสดงความวิตกกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอยเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะ Stagflation อย่างแน่นอน
ซูซาน วอชเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและอสังหาริมทรัพย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนส.ค.หรืออาจจะช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึง จอห์น ซิลเวีย นักวิเคราะห์จากธนาคารวาโชเวีย และ เกร็ก อิพ นักวิเคราะห์วอลล์สตรีท เจอร์นัล มองว่า วิกฤตทางสองแพร่งระหว่างสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรง และเศรษฐกิจสหรัฐที่หมิ่นเหม่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในยามนี้ กำลังวัดใจคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดว่า จะ "ขึ้น" หรือ "ไม่ขึ้น" อัตราดอกเบี้ยในปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ