ผลการศึกษาของออกซ์แฟมเผยให้เห็นว่า นโยบายด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศร่ำรวยกำลังทำให้ประชาชนหลายล้านคนในประเทศกำลังพัฒนายากจนลง
ออกซ์แฟม ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ได้เปิดเผยรายงานในช่วงเวลาที่ผู้นำจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือ จี8 กำลังจะอภิปรายกันเพื่อหาทางลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในการประชุมสุดยอดที่ญี่ปุ่น เดือนก.ค.นี้
ผลการศึกษาดังกล่าวรายงานโดยอ้างการคาดการณ์ของธนาคารโลกว่า ราคาอาหารได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 83% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นหายนะสำหรับผู้ยากไร้ทั่วโลก "ชีวิตของประชากรประมาณ 290 ล้านคนตกอยู่ในอันตรายโดยที่ไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากวิกฤติอาหาร" ผลการศึกษาระบุ
การศึกษาระบุว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพคิดเป็นสัดส่วน 30% และระบุว่าเชื้อเพลิงชีวภาพได้กดดันให้ประชาชน 30 ล้านคนยากจนลงแล้วในตอนนี้
"เชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบันไม่ได้แก้ปัญหาสภาพอากาศหรือวิกฤติพลังงาน แต่กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารและเงินเฟ้อ โดยคนยากจนเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบหนักสุด" ร็อบ บาลลีย์ ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว
รายงานผลการศึกษากล่าวโทษประเทศร่ำรวยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ โดยระบุว่า เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้น กำลังทำให้คนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีอาหารประทังชีวิต
รายงานยังชี้แนะด้วยว่า ประเทศร่ำรวยควรระงับการใช้กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพในอนาคต และยกเลิกการให้เงินอุดหนุนและการยกเว้นภาษีเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อช่วยให้ประชาชนไม่ยากจนลงไปมากกว่านี้ สำนักงานซินหัวรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--