ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ดิ่งหนัก จากกระแสคาด FED อาจไม่ขึ้นดบ.เดือนส.ค.

ข่าวต่างประเทศ Friday June 27, 2008 07:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) โดยดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ลดคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนส.ค.นี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 106.72 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 107.83 เยน/ดอลลาร์ และดิ่งลงแตะระดับ 1.0225 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0347 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5757 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5669 ดอลลาร์/ยูโร ส่วนเงินปอนด์ทะยานขึ้นแตะระดับ 1.9874 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9743 ดอลลาร์/ปอนด์
ดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7551 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7592 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกปี 2551 ขยายตัว 1.0%
ขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติรายงานยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.0% แตะระดับ 4.99 ล้านยูนิตในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.93 ล้านยูนิต และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงงานทรงตัวที่ 384,000 ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย.
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ อเมริกากล่าวว่า "แม้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดูเหมือนเป็นบวก แต่ความจริงแล้วยังอ่อนแออยู่มาก เนื่องจากก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวประมาณ 2.5-3% "
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนส.ค.แม้สหรัฐกำลังเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็ตาม
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed funds rate) ไว้เท่าเดิมที่ 2.00% และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ที่ 2.25% พร้อมกับออกแถลงการณ์ประเมินเศรษฐกิจว่า "เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังคงขยายตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปานกลางในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ