นักวิชาการเห็นพ้องมีลุ้นเห็นอัตราเงินเฟ้อเป็นเลข 2 หลักได้ในช่วงไตรมาส 3/51 โดยจะในเดือนมิ.ย.จะไต่ระดับชึ้นไปอยู่ที่ 8-9% จากปัจจัยหลักสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังพุ่งทะยานต่อเนื่อง และกระทรวงพาณิชย์หมดแรงตรึงราคาสินค้า
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.51 คาดว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 9% จาก 7.6% ในเดือน พ.ค.51 สาเหตุที่คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นและใกล้เคียงกับตัวเลข 2 หลัก เป็นเพราะราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในเดือน มิ.ย.ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ค.มากกว่า 10% ถือเป็นต้นทุนหลักสำคัญของค่าขนส่งและค่าสินค้า
"ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในเดือน มิ.ย.สูงขึ้นจากเดือน พ.ค.มากกว่า 10% ซึ่งดีเซลเป็นต้นทุนที่มีความผันแปรสูงและมีผลกระทบทันทีต่อราคาสินค้า เราคิดว่ามันยังกดดันเงินเฟ้ออยู่" นายเชาว์ กล่าว
ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาส 2/51(เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่าจะอยู่ที่ 7.6% เป็นอัตราที่เร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 1/51 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.0% พร้อมมองว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้อาจยังไม่สูงเกิน 10% ตามที่มีหลายฝ่ายกังวล แต่อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสสูงที่จะปรับขึ้นไปใกล้เคียง 10% ในช่วงเดือน ส.ค.
"โอกาสเฉียดมากที่สุด(เงินเฟ้อเป็นเลข 2 หลัก) คือเดือน ส.ค. เพราะเราคาดการณ์ตัวเลขเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าน่าจะ peak สุดในช่วงนี้คือใกล้กับ 10% บวก/ลบนิดหน่อย จากปัจจัยน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก เพราะโอเปกบอกว่าอีกไม่กี่เดือนน้ำมันอาจจะสูงกว่านี้ ประกอบกับปัจจัยที่กระทรวงพาณิชย์จะเริ่มปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดด้วย" นายเชาว์ ระบุ
กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7.4% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานของราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 125 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยหลุดขึ้นไปประมาณ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล เงินเฟ้ออาจทั้งปีอาจจะขึ้นไปที่ประมาณ 8%
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ 5.0-5.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ระดับไม่เกิน 105 ดอลลาร์/บาร์เรลเท่านั้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มจะเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เนื่องจากต้องตัดสินใจระหว่างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยว่าแข็งแกร่งพอที่จะรองรับกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหรือไม่ กับอีกด้านหนึ่งคือการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้บริโภคในการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลภาวะเงินเฟ้อที่สูงอยู่ในปัจจุบัน แต่หากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่อนข้างบีบคั้นแล้ว เชื่อว่า กนง.จะเลือกการดูแลเงินเฟ้อมากกว่า
"ธปท.มีทางเลือกที่จำกัด เพราะเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องเข้ามาดูแลให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงินในกรอบการดูแลโดยใช้ Inflation Trageting อยู่แล้ว แต่พอมาถึงจุดนี้คิดว่า ธปท.คงเอียงน้ำหนักไปที่การดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่าทางการจะเข้ามาดูแล แต่หากธนาคารกลางไม่ดูแล ความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อจะยิ่งแย่ลง" นายเชาว์ ระบุ
นายเชาว์ ยังเชื่อว่า การเน้นน้ำหนักในการดูแลอัตราเงินเฟ้อมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเป็นการตัดสินใจที่เป็นทิศทางเดียวกันกับอีกหลายประเทศในโลกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงอยู่ในขณะนี้ และสำหรับประเทศไทยเองจึงเชื่อว่าการประชุม กนง.ในครั้งหน้า มีโอกาสสูงที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะเป็นตัวเลข 2 หลักว่า มีโอกาสเป็นไปได้แต่คงไม่มากนัก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีจะต้องสูงถึง 170 ดอลลาร์/บาร์เรล
แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังมองว่าเงินเฟ้อทั้งปีคงเฉลี่ยประมาณ 6.0-6.5% จากสมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีที่ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งระดับนี้น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด และหากเงินเฟ้อจะสูงเกินกว่า 10% จริงก็น่าจะเป็นการสูงขึ้นในบางเดือนมากกว่าที่จะเป็นอัตราการสูงขึ้นของทั้งปี
"โอกาสที่เราจะเจอเงินเฟ้อตัวเลข 2 หลัก ก็มีความเป็นไปได้ ราวเดือน ก.ย.หรือ ต.ค. เพราะสิ่งแรกที่เราจะเห็นคือการปรับราคา LPG ในภาคขนส่งและครัวเรือนมีโอกาสจะปรับขึ้น ราคาน้ำมันดีเซลก็มีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีก นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ก็เปิดโอกาสสินค้าต่างๆ ปรับขึ้นราคาได้ แต่คงเป็นการขึ้น 2 หลักในบางเดือนมากกว่าที่จะเป็นอัตราเฉลี่ยทั้งปี" นายธนวรรธน์ ระบุ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อระยะ 2 เดือนข้างหน้ามีโอกาสขึ้นไปที่ 8-9% ส่วน ขณะที่เดือน มิ.ย.น่าจะใกล้ 8% จากเหตุผลของราคาน้ำมันและการปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ยอมปล่อยราคาสินค้าให้ปรับขึ้นได้บ้าง ประกอบกับฐานราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่สูง
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นนั้น นายธนวรรธน์ ให้ความเห็นส่วนตัวว่าต้องการให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ยังเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ท้ายสุดแล้วก็ต้องขึ้นกับ กนง.หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีแนวโน้มที่จะทรุดตัวลงมากและสามารถรองรับกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.25% ก็เป็นเหตุผลที่พอรับได้
"ผมอยากให้เป็นแบบนั้น(คงอัตราดอกเบี้ย)เพราะเศรษฐกิจยังมีสัญญาณที่ชะลอตัว แต่ถ้าแบงก์ชาติส่งสัญญาณว่าจะขึ้นก็ไม่ได้ผิดอะไร...แต่หาก กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ส่งสัญญาณทรุดตัวมาก การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ก็ถือว่าเป็นกรอบที่พอทำได้ การตรึงหรือเพิ่มรับได้ทั้งนั้น" นายธนวรรธน์ ระบุ
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--