กระทรวงการคลัง ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ สถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศ และนิติบุคคลต่างประเทศ รวม 15 ราย ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ในวงเงินรายละไม่เกิน 3,500 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 52,500 ล้านบาท
ตามที่กระทรวงการคลังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศให้เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของระบบการเงินเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเงินของประเทศ โดยการออกพันธบัตรให้มีความหลากหลาย และการขยายฐานผู้ออกและผู้ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย และต่อมาได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศ ลงวันที่ 11 เมษายน 2549 โดยผู้สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ ปีละ 2 ครั้ง คือ ภายในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของทุกปี นั้น
กระทรวงการคลังได้พิจารณาปัจจัยหลายประการ อาทิ อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขออนุญาต ความหลากหลายของประเทศผู้ได้รับอนุญาต การนำเงินที่ระดมได้ไปใช้ ปริมาณสภาพคล่องในประเทศ และปริมาณการออกตราสารหนี้ในประเทศของภาครัฐและเอกชนไทยแล้ว เห็นควรอนุญาตให้ Agence Francaise de Developpement (AFD), Cargill Inc. (Cargill), Commonwealth Bank of Australia (CBA), Cooperative Centrale Raiffeisen — Boerenleenbank B.A. (Rabobank), Deutsche Bank (DB), Dow Capital International LLC (DCI)
รวมทั้ง ธนาคารโลก (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD), บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC), ING Bank NV (ING), Kommunalbanken Norway (KBN), The Export — Import Bank of Korea (KEXIM), สถาบันเครดิตเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (KfW), Nordic Investment Bank (NIB), Oversea — Chinese Banking Corporation Limited (OCBC) และ Swedish Export Credit Corp (SEK)
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--