บล.ธนชาต คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 16 ก.ค.มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 0.50% ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบันที่คาดว่าจะปรับขึ้น 0.25% เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของค่าเงินในการรับมือกับการเร่งตัวขึ้นของราคาน้ำมันในสภาวะที่เครื่องมือการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการควบคุมปริมาณเงินถูกจำกัดลง จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ดำเนินการดูดซับสภาพคล่องอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้าแทรกแซงเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไปเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมิ.ย.51 ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 8.9% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และถึงแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์อ้างว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังสามารถควบคุมได้ แต่เราเห็นถึงความเป็นไปได้ที่กระทรวงพาณิชย์จะทำการปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อในไม่ช้านี้ จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 5.0-5.5%
"ในมุมมองของเรา หากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับที่สูงนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด"เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ด้าน บล.บีฟิท วิเคราะห์ว่า การตัดสินใจของ กนง.ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้จะเป็นการส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป รวมไปถึงมุมมองของ ธปท.ที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ถ้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพียง 0.50% คาดว่าทิศทางของ SET Index จะปรับตัวลงแต่ไม่รุนแรงมากนัก เพราะเชื่อว่าตลาดน่าจะรับข่าวแล้ว
แต่หาก กนง.ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่า 0.50% ขึ้นไป อาจจะส่งผลทำให้ทิศทางของ SET Index ปรับตัวลงแรงแบบ Panic Sell เพราะนักลงทุนอาจจะตีความว่า ธปท.ประเมินภาวะเงินเฟ้อครึ่งปีหลังว่าจะพุ่งทะยานขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณลบที่รุนแรงต่อทิศทางตลาดหุ้นตลอดไตรมาส 3/51
ขณะที่ บล.นครหลวงไทย(SCIBS) ประเมินอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5-8.5% เนื่องจากการปรับฐานราคาอย่างก้าวกระโดดในช่วง Q2/51 โดยในเบื้องต้นคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีจุดสูงสุดอยู่ในเดือนส.ค. 2551 แล้วถึงจะเริ่มมีการชะลอตัวลง โดยทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในประเทศเปลี่ยนไปเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลัง โดยมีแนวโน้มขยายตัวอยู่เหนือ 9.0% และคาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในเดือนส.ค. 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นประวัติการณ์กว่า 10.0-10.5%
แต่อย่างไรก็ตาม SCIBS คาดว่าเงินเฟ้อจะมีการปรับตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาต่อเนื่องติดต่อกันในเดือนเม.ย.-พ.ค.2551 โดยประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญของอัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่สูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นไปเหนือคาดการณ์ โดยในกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst-case) SCIBS มองกรอบอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ไว้ที่ 8.75-9.0%
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่เหลือของปี 2551 เริ่มเปลี่ยนเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราดอกเบี้ยช่วงปลายปีจะอยู่ที่ 3.75% ปรับเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.50% เท่านั้น เนื่องจากปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงขาดความแข็งแกร่ง
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--