แม้ว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ออกย้ำจุดยืนที่ว่า รัฐบาลสหรัฐมีนโยบายสนับสนุนให้เงินดอลลาร์แข็งแกร่งมาโดยตลอด และมูลค่าของเงินดอลลาร์จะสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า การประชุมสุดยอด G8 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ก.ค.นี้ที่ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเวทีการประชุมของการจำกัดขอบเขตของความเสียหายและแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่า รัฐบาลของประเทศกลุ่ม G8 กำลังพยายามที่จะควบคุมราคาน้ำมันและอาหารเท่านั้น
ชาลส์ คัพชัน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า ในขณะทีสหรัฐและประชาคมโลกต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ และประธานาธิบดีบุชเองก็ใกล้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ในการประชุมครั้งนี้ บุชคงจะไม่ได้มีจุดยืนและได้รับความร่วมมือเหมือนแต่ก่อน
การที่เงินดอลลาร์ร่วงลงถึง 41% เมื่อเทียบกับยูโรในสมัยที่บุชยังทำหน้าที่บริหารประเทศนั้น นักวิเคราะห์มองว่า การที่เงินดอลลาร์ร่วงลงขนาดนี้เปรียบเหมือนกับการเขียนคำจารึกบนหลุมศพทางเศรษฐกิจโดยทีมงานบุชเลยทีเดียว แม้ว่าการบริหารงานดังกล่าวจะมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูอิทธิพลของประเทศกลับคืนมาก็ตาม ดังนั้น การเดินทางไปร่วมประชุม G8 ครั้งนี้ของบุชจึงแตกต่างไปจากเดิม หลังจากที่รัสเซียและจีนได้มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยวาระการประชุมสุดยอด G8 นี้ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ รวมทั้งการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการให้คำมั่นของประเทศที่ร่ำรวยเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในทวีปแอฟริกา และการร่วมมือในการควบคุมการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งนี้ บุชถือเป็นตัวแทนประเทศสมาชิกกลุ่ม G8 ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดรองจากอิตาลี ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 0.5% ปีนี้ และคาดว่าจะตามหลังการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษที่ 1.6% ยุโรปที่ 1.4% ญี่ปุ่น 1.4% และแคนาดา 1.3%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--