ฝ่ายวิจัย BBL ระบุ เงินเฟ้อพื้นฐาน มิ.ย.สะท้อน Second-round Effect ชัด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2008 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน มิ.ย.สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ที่ 0-3.5% สะท้อนให้เห็นถึงการเกิดผลกระทบรอบที่สอง(Second-round Effect) ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้ไม่ใช่เงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน(Cost Push) เพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนผสมของเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์(Demand Pull) ด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้จะส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ(Inflation Expectation) ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงขึ้นมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานอีกรอบหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นและต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด และนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในอนาคต 
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ธปท.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจจะต้องทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจบรรเทาความหวั่นวิตกต่อการเพิ่มสูงขึ้นของเงินเฟ้อในอนาคตให้ได้ แต่เป็นการยากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังของปี 51 โดยอาจปรับขึ้นมากกว่า 0.75% ตามที่เคยคาดไว้
หลังจากเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นถึง 3.6% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. และสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.42 ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นถึง 8.9% และยังมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะสูงเกิน 4% ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ถึงต้นไตรมาสที่ 4 จากปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าที่ได้คาดเอาไว้ โดยเฉพาะจากความชัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และรัฐบาลได้ประกาศปรับราคาก๊าซ LPG ภายในเดือน ก.ค.นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ