นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากต้นทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นถ้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องดูผลกระทบว่าจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) กลับคืนมาหรือไม่ และจะมีปัญหาต่อการชำระคืนหนี้ของลูกค้าหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ซื้อบ้าน
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะประชุมกันในวันที่ 7 ก.ค.นี้เพื่อเตรียมเสนอแนวทางให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นปัญหาต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการต่างไม่ต้องการให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนที่สูงอยู่แล้ว ทั้งค่าวัตถุดิบ แรงงาน และค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และจากต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ยอดขายสินค้าบางอุตสาหกรรมชะลอตัวลงแล้ว
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีความเห็นที่แตกต่างใน 2 ด้าน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นกระทรวงการคลัง และ ธปท.จะต้องศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการเสริมเข้ามาดูแล
โดยก่อนหน้านี้ได้เคยหารือกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไว้แล้วเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่กลุ่ม SMEs เนื่องจากข้อบังคับตามกฎหมายใหม่ใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น ธปท.จะไม่สามารถสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้แล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่กระทรวงการคลังจะต้องเข้ามาช่วยดำเนินการในเรื่องนี้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยขณะนี้มีปัจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อสูง, ราคาน้ำมันแพง, ปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ, ภาวะเศรษฐกิจของเวียดนาม รวมทั้งการเมืองภายในประเทศ ดังนั้นการดูแลภาวะเศรษฐกิจนอกจากต้องดูแลนโยบายดอกเบี้ยให้เหมาะสมแล้ว ควรเข้ามาดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ทั้งนี้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นกลไกสำคัญ เพราะหากดูแลให้เงินบาทแข็งค่าจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำลงได้ ภาระการชำระคืนหนี้จะลดน้อยลง ขณะที่อีกมุมหนึ่งนั้นหากเงินบาทอ่อนค่าก็จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหาจุดที่สมดุลเพื่อทำให้ประเทศได้รับผลที่ดีที่สุด
นายอภิศักดิ์ มองว่า ปัญหาพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักที่รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาดูแล และหาแนวทางให้ประชาชนเกิดการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพื่อลดต้นทุนของประเทศให้ต่ำลง นอกจากนี้ปัญหาการเมืองในประเทศที่มีความขัดแย้งต่อเนื่องมา 2-3 ปี ก็จำเป็นต้องหาทางยุติให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--