นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกนได้ออกมาฟันธงสวนทางเมอร์ริล ลินช์ว่า บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐที่จะต้องยื่นเรื่องล้มละลายในอนาคตคือ ไครสเลอร์ ไม่ใช่เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม)
ไฮแมนชู พาเทล นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกนกล่าวว่า บริษัทไคร์สเลอร์ แอลแอลซี อาจประสบภาวะล้มละลาย หรืออาจต้องขายแบรนด์รถยนต์ Jeep และ Dodge Ram ในช่วงต้นปีหน้า เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง และการที่ตลาดสหรัฐให้ความสนใจรถบรรทุกน้อยลง
อย่างไรก็ตาม พาเทลคาดว่า บริษัทคู่แข่งของไคร์สเลอร์ อาทิ เจนเนอรัล มอเตอร์ และฟอร์ด จะสามารถฟันฝ่าภาวะซบเซาในตลาดรถยนต์สหรัฐไปได้ และจะสามารถทำกำไรได้ในปีพ.ศ.2553 ทั้งนี้ พาเทลปฏิเสธการประเมินก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า จีเอ็มจะล้มละลาย โดยเขากล่าวกับนักลงทุนและสื่อมวลชนในที่ประชุมว่า ตลาดวิตกกังวลกับเรื่องนี้มากเกินไป
การแสดงความเห็นของพาเทลมีขึ้นหลังจากราคาหุ้นจีเอ็มดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 54 ปี ภายหลังจากนายจอห์น เมอร์ฟี นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า มีความเป็นได้ที่จีเอ็มจะล้มละลาย หากตลาดรถยนต์สหรัฐยังทรงทรุดตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจีเอ็มอาจต้องระดมทุนเป็นวงเงินสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
เมื่อคืนนี้ ราคาหุ้นจีเอ็มพุ่งขึ้น 1.4% ปิดที่ 10.12 ดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปิดทำการในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค.เนื่องในวันชาติสหรัฐ
พาเทลระบุว่า สถานการณ์ของบริษัทไครสเลอร์อยู่ในระดับที่อันตรายมากขึ้น เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ที่จำกัดจนถึงขั้นต้องระดมเงินสด นอกจากนี้ ไครสเลอร์ที่พึ่งพาการผลิตรถบรรทุกและตลาดรถยนต์ในตลาดอเมริกาเหนืออย่างมาก ทำให้สถานการณ์เช่นนี้ดึงราคาหุ้นไครสเลอร์ ดิ่งลง 22% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
ที่ผ่านมานั้น ไครสเลอร์แทบจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านการเงินนับตั้งแต่บริษัทเซอร์เบรัส แคปิตอล เมเนจเมนท์ เข้าซื้อกิจการไครสเลอร์เมื่อปีที่แล้ว แต่พาเทลประมาณการว่า ไครสเลอร์จะขาดทุนอย่างหนักถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งจะบีบให้บริษัทยื่นขอคุ้มครองจากการล้มละลาย หรือขายธุรกิจบางส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ.2552 หากอุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น
พาเทลกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ผลประกอบการของไครสเลอร์ แต่ระบุว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้และจีน ต้องการฮุบเครือข่ายจัดจำหน่ายรถยนต์ของไครสเลอร์ พร้อมกล่าวว่าการยื่นขอคุ้มครองจากการล้มละลายของไครสเลอร์จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเซอร์เบรัสซึ่งลงทุนในไครสเลอร์ราว 6.1 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการ
ด้าน เดวิด เอลชอฟฟ์ โฆษกไครสเลอร์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทอม ลาซอร์ดา ประธานและรองประธานไครสเลอร์ ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่าบริษัทเซอร์เบรัสวางแผนที่จะขายกิจการไครสเลอร์
พาเทลคาดการณ์ว่า จีเอ็มจะขาดทุนราว 6.9 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ.2551 และขาดทุน 4.3 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2552 เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนัก และเนื่องจากตลาดสหรัฐนิยมรถบรรทุกและรถยนต์อเนกประสงค์น้อยลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีเอ็มจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ราว 2.3 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ.2553
พาเทลระบุว่า จีเอ็มมีเงินสดอยู่ในมือราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีเครดิตราว 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงไม่จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มในทันที อย่างไรก็ตาม พาเทลคาดว่า จีเอ็มอาจจะระดมทุนราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ปีนี้
ก่อนหน้านี้ เมอร์ฟี นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า จีเอ็มอาจต้องระดมทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมเตือนว่าการระดมเงินทุนของจีเอ็มอาจจะทำได้ลำบากเนื่องจากตลาดทุนตกอยู่ในภาวะตึงตัว แต่พาเทลระบุว่าจีเอ็มจะสามารถระดมทุนได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ พาเลทกล่าวว่า สถานะด้านการเงินของบริษัทฟอร์ดอยู่ในระดับที่ดี และจะสามารถฟันฝ่าภาวะซบเซาในตลาดรถยนต์ได้ อีกทั้งเชื่อว่าฟอร์ดสามารถทำกำไรในปี 2553 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อารอน แบร็กแมน นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์จากบริษัทโกลบอล อินไซท์ กล่าวว่า "มุมมองของนักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทที่มีต่อบริษัทรถยนต์กลุ่ม "บิ๊กทรี" ของสหรัฐนั้น ค่อนข้างจะหลากหลาย เนื่องจากตลาดรถยนต์ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน แผนการทำกำไรของบริษัทล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นและราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้"
ถึงกระนั้น แบร็กแมนกล่าวว่า การล้มละลายไม่ใช่ทางออกของบริษัทผลิตรถยนต์สหรัฐ สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--