นักการเมือง-นายแบงก์แนะเร่งสร้างความชัดเจนการเมือง-ศก.ขจัดความอึมครึม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 4, 2008 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          "อภิสิทธิ์"แนะเร่งปรับ ครม.สร้างภาพชัดเจน แก้ปัญหาความอึมครึมในประเทศตอนนี้ที่ต้องเดินหน้าด้วยการทำการเมืองและเศรษฐกิจให้ชัดเจน ด้านนายแบงก์เสนอสร้างความชัดเจนด้านนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจ และหาวิธีผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกด้วย 
นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังงานสัมนาในหัวข้อ "เศรษฐกิจ...ยอบแยบ การเมือง...อึมครึม หุ้น...?" ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยังมีความอึมครึม เนื่องจากการที่รัฐบาลไม่สามารถกำหนดความชัดเจนในเรื่องของนโยบาย รวมทั้งภาพการเข้ามาของรัฐบาลถูกมองเป็นการเข้ามาเพื่อผลประโยชน์มากกว่าการทำงานเพื่อประเทศชาติ
ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องรีบดำเนินการคือการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในบางตำแหน่ง เพื่อให้มีการทำงานที่ดีขึ้น รวมทั้งควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าเพราะประเด็นที่ยังอยู่ในใจของประชาชนคือ การเข้ามาช่วยเหลือพรรคหรือช่วยเหลือผู้มีอำนาจเก่าแทนที่จะแก้ปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมัน
"ตอนนี้ไม่มีความเชื่อมั่นให้เขย่าแล้ว สิ่งที่ดีตอนนี้สำหรับรัฐบาลคือการปรับ ครม.ให้เสร็จและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริงมากกว่า เพราะทุกวันนี้เราได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นสูง แต่รัฐบาลก็ให้คำตอบไม่ได้ซักที แม้จะมีมาตรการออกมาในส่วนของพลังงานทดแทน E20, E85 แต่ก็ไม่ชัดเจนที่จะมุ่งเน้นตัวไหนมาช่วย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ปัญหาต้นทุนสูงเกิดจากราคาน้ำมันจนทำให้เงินเฟ้อเพิ่มนั้นก็ควรที่จะมีการชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่กดดันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ถูกจุด
ด้าน น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด(ไทย) กล่าวว่า สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นในขณะนี้คือความชัดเจนด้านนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจเพราะในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำซึ่งจะเห็นจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม การไหลออกของเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไม่ได้เกิดจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจการเมืองเป็นอย่างเดียว แต่เป็นเพราะปัญหาจากเศรษฐกิจโลกด้วย
ทั้งนี้ในส่วนเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ 2 อย่างคือ 1.เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัวเพราะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อ ซึ่งปัญหานี้จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางทุกประเทศ และ 2. วิกฤติการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังแผ่ไปยังภาคธุรกิจที่แท้จริงของประเทศสหรัฐฯ
"ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หุ้นที่ปรับตัวลดลงในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาคือหุ้นในภาคการเงิน แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ จะเห็นหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากเริ่มเป็นหุ้นที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่แท้จริง สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่กำลังท้าทายเศรษฐกิจทั่วโลกคือ ปัญหาการเงินของประเทศสหรัฐที่กำลังกระทบต่อภาคธุรกิจสหรัฐ" น.ส.อุสรา กล่าว
น.ส.อุสรา กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในตอนนี้ด้วยการหาวิธีผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ในสถานการณ์ที่ตัวแปรเดิมที่เคยผลักดันเศรษฐกิจในอดีต ซึ่งก็คือการส่งออกไม่สามารถหนุนเศรษฐกิจได้อีกต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรว่ารัฐบาลควรดำเนินนโยบายการคลังและการเงินให้สามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 52 และอนาคตได้ด้วย โดยประเมินว่าปัจจุบัน ในสวนของนโยบายการคลังนั้นคงทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวมากนัก เพราะมีแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มอีก แต่ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น มองว่ายังไม่ชัดเจนมากพอ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ
การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของแต่ละประเทศคงต้องแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความพร้อม โดยประเทศสิงคโปร์ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการแก้ปัญหา เนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีเงินทุนสำรองจำนวนมากจึงสามารถใช้วิธีดังกล่าวได้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลลิปปินส์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีการเติบโตค่อนข้างสูง หรือประมาณ 80% ซึ่งมีแรงผลักดันจากการใช้จ่ายของภาคประชาชน
ส่วน ธปท.ประเมินว่ามีทางออกเรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก เพราะ ธปท.ใช้นโยบายกดอัตราเงินเฟ้อไว้ไม่เกิน 3.5% ขณะที่เงินเฟ้อที่แท้จริง(Core Inflation) ปรับตัวขึ้นไปถึง 3.6% แล้ว จึงมองว่า ธปท.คงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเสียไม่ได้เพื่อแสดงทีท่าให้นักลงทุนเห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้วางเฉยในปัจจัยดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% อีก 2 ครั้ง เพราะถ้าเพิ่มมากกว่านี้ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรที่จะต้องวางนโยบายเศรษฐกิจให้รองรับการเติบโตในปี 52 ด้วย เนื่องจากเชื่อว่าปี 2552 เศรษฐกิจเอเชียจะแย่กว่าปีนี้รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้ประเทศเอเชียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันหลักเกิดปัญหาขึ้น ทั้งปัญหาเงินเฟ้อจากการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาประเทศแถบเอเชียมีการอุดหนุนราคาน้ำมันทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว การเกินดุลการค้าลดลงจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะขาดดุลการค้าในที่สุด และค่าเงินที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ