โกลบอล อินไซท์แนะแบงค์ชาติทั่วโลกอย่าเดินตาม"เบอร์นันเก้"หากต้องการคุมเงินเฟ้อ

ข่าวต่างประเทศ Monday July 7, 2008 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นาริแมน เบห์ราเวช หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทโกลบอล อินไซท์ ในรัฐเมสซาชูเซทส์กล่าวว่า ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ นับตั้งแต่รัสเซียไปจนถึงเวียดนาม ไม่ควรดำเนินการตามนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนปัจจุบัน หากต้องการควบคุมเงินเฟ้อ แต่ให้ดำเนินการตามนายพอล วอล์คเกอร์ อดีตประธานเฟด
"เนื่องจากหลายสกุลเงินทั่วโลกเกี่ยวโยงกับดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจึงต้องรักษานโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเฟด ซึ่งหลังจากที่เบอร์นันเก้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 20 ปี ธนาคารกลางเหล่านี้จึงเริ่มตระหนักว่าอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศตนเองอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปและกลายเป็นปัจจัยที่หนุนตัวเลขเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว" เบห์ราเวชกล่าว
"นโยบายการเงินในหลายประเทศไม่มีความเป็นอิสระ และได้รับแรงกระตุ้นที่ไม่เหมาะสม คำตอบที่ดีกว่าในขณะนี้อาจเป็นแนวทางที่วอล์คเกอร์ อดีตประธานเฟดนำมาใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1980 คือใช้มาตรการคุมเข้มทางการเงิน" เขากล่าว
"การปรับนโยบายในรูปแบบดังกล่าวหมายถึงการปรับขึ้นต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่เหนือระดับเงินเฟ้อ เหมือนกับในปี 2523 ที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งขึ้นถึง 15% ซึ่งวอล์คเกอร์ได้ตอบสนองสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20%" นายเบห์ราเวชกล่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตัวเลขเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสูงขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา โดยอัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนพ.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ 8.7% เงินเฟ้อเวียดนามพุ่งขึ้น 27% ในเดือนมิ.ย. และตัวเลขเงินเฟ้อของอินเดียพุ่งขึ้น 11.6% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 13 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ