กระทรวงคมนาคม ห่วงกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกเส้นทางยังไม่นิ่งจากผลกระทบต้นทุนพุ่งไม่หยุด เตรียมทบทวนกรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทางจาก 7.7 แสนล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น หลังจากเห็นกรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ปรับขึ้นมาเป็น 7.7 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท และยังอาจพุ่งต่อไปอีก
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนนาคม กล่าวว่า จะมีการประเมินกรอบวงเงินรวมโครงการรถไฟฟ้าที่ 7.7 แสนล้านบาทอีกครั้งว่าจะต้องปรับเพิ่มหรือไม่ แต่คาดว่าในปีนี้คงจะยังอยู่ภายใต้กรอบ 2 แสนล้านบาท แต่ในปี 52 คงจะเห็นชัดเจนว่ากรอบวงเงินทั้งหมดจะปรับไปอย่างไร เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท และมีปัจจัยราคาเหล็กที่อาจปรับลดลง หลังจากความต้องการในจีนลดลง
"กรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นเราต้องชี้แจงต่อสาธารณะชนได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ส่วนโครงการอื่นๆ เช่น สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ซึ่งมีแนวโน้มว่ากรอบวงเงินจะต้องเพิ่มขึ้น ก็จะให้ปรับปรุงกรอบวงเงินให้ตรงกับความเป็นจริง แต่จะชี้แจงรายละเอียดให้โปร่งใส และยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดเนื้องาน หรือระยะทางของโครงการรถไฟฟ้า เพราะถือว่าโครงข่ายเดิมดีอยู่แล้ว" นายสันติ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค)
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ปรับเพิ่มวงเงินก่อสร้างเป็น 7.7 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นเพราะมีการปรับเพิ่มเนื้องานด้วยการเพิ่มขนาดของสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ และผลกระทบจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำรายละเอียดแจกแจง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่จะใช้เงินกู้จากเจบิค คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ กรอบวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต กรอบวงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กรอบวงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่โครงการที่เหลือจะใช้เงินกู้ในประเทศ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--