นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากการเมืองในประเทศรุนแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง และยุบสภา เกิดสูญญากาศทางการค้า และการลงทุน ประกอบปัจจัยเดิมรุนแรงขึ้นทั้งราคาน้ำมันปรับขึ้นเกิน 151 เหรียญ/บาร์เรล ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 33 บาท/เหรียญฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนและราคาสินค้าเพิ่ม จะซ้ำเติมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ต่ำกว่า 5% และการส่งออกขยายตัวเหลือ 13.5% ทำให้ขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 6,872 ล้านเหรียญฯ ซึ่งโอกาสเป็นได้ถึง 30%
สำหรับในครึ่งปีหลังดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบ 1,290 ล้านเหรียญฯ จากครึ่งปีแรกได้ดุล 2,695 ล้านเหรียญฯ ทำให้ทั้งปีได้ดุลบัญชีเดินสะพัด 1,405 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากปีก่อนที่ได้ดุลถึง 14,923 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของภาคการค้า และภาคบริการ (ท่องเที่ยว) หากสถานการณ์แย่ลงอีกจะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 1,561 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทุก 1% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม 3.4% ส่งออกลดลง 1.8% และหากเงินเฟ้อเพิ่ม 1% จะทำให้การส่งออกลดลง 11.08% และหากเงินบาทอ่อนค่า 1% ทำให้ส่งออกเพิ่ม 0.8% แต่นำเข้าลดลง 3.2%
เนื่องจากในครึ่งปีหลังทั้งการส่งออกและนำเข้าอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกครึ่งปีหลังการจะชะลอลงจากครึ่งปีแรก หรือขยายตัวลดจาก 21.1% เหลือ 13.2% มูลค่า 91,282 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ทั้งปีขยายตัว 16..9% มูลค่า 178,252 ล้านเหรียญฯ จากปีก่อนที่ขยายตัว 17.5%
ทั้งนี้เพราะผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 52% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น การขึ้นดอกเบี้ย ปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนและราคาสินค้าเพิ่มอีกประมาณ 24% เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 2.7% จากปี 50 ที่ขยายตัว 3.7% การค้าโลกลดลงเหลือ 4.5% จากปีก่อนที่ 7.5% รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศนำเข้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง
ส่วนการนำเข้าครึ่งปีหลังขยายตัวเหลือ 28% จากครึ่งปีแรกขยายตัว 32.4% เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคชะลอตัว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มการส่งออกที่ลดลง และความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ทั้งปีนำเข้าขยายตัว 30% มูลค่า 182,159 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ไทยกลับมาขาดดุลการค้าอีกครั้งในรอบ 3 ปี รวมมูลค่าขาดดุลการค้า 3,906 ล้านเหรียญฯ โดยครึ่งปีแรกขาดดุลการค้า 1,551 ล้านเหรียญฯและครึ่งปีหลังขาดดุลการค้า 2,355 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5%
ด้านนายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานคณะอนุกรรมการระหว่างประเทศ หอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นห่วงธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีเงินทุนหมุนเวียน 50-200 ล้านบาท เพราะมีความเสี่ยงด้านต้นทุนแพง ค่าจ้างแรงงานสูง และขายสินค้าไม่ได้ ซึ่งกระทบสภาพคล่องทางการเงินขององค์กร จนต้องเลิกกิจการและกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้มูลค่าทางธุรกิจรวมของเอสเอ็มอีมีสัดส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ 30% แต่หากปล่อยให้ลดลงเพียง 10% ก็จะเกิดวิกฤตต่อธุรกิจไทยได้ เพราะมีจำนวนมากถึง 70% ของธุรกิจรวมในประเทศ
“ต่อไปการส่งออกจะแข่งขันรุนแรงขึ้นและต้นทุนแพงขึ้น โดยหลายประเทศเพิ่มการออกมาตรการกีดกัดทางการค้าที่ไม่ใช้ภาษีมากขึ้น ยิ่งการเมืองเกิดภาวะสุญญากาศ หรือไร้ความชัดเจน จะทำให้ทุกอย่างชะลอตัว เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 5% ธุรกิจอีกจำนวนมากล้มหายตายจาก ซึ่งหอการค้าไทยกำลังสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้ภาครัฐเร่งแก้ไขต่อไป “ นายชัยนันท์กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/รัชดา/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--