นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ไม่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงได้ เนื่องจากตลาดคาดการณ์การเร่งตัวของเงินเฟ้อในปีนี้ไปล่วงหน้าแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรจะหันมาดูแลในด้านสภาพคล่องในระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินตึงตัว และควรจะผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเพื่อประคับประคองให้อยู่รอดในสถานการณ์อย่างนี้
นอกจากนั้น ยังเตือนให้รับมือกับภาวะเงินฝืดและอัตราดอกเบี้ยสูงที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 52 เป็นต้นไป ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงจะเป็นตัวดึงให้เงินออมในภาคครัวเรือนลดลง เนื่องจากประชาชนมีรายจ่ายกลับสูงขึ้น กระทบต่อเงินฝากในระบบธนาคารที่จะลดลงไปด้วย ขณะที่ความต้องการสินเชื่อมีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เม็ดเงินในระบบมีเหลืออยู่น้อย ดังนั้น หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ใช้นโยบายเข้มงวดในการให้สินเชื่อก็จะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงขาลง
"ขณะนี้จะเห็นได้ว่าแบงก์ชาติได้ทยอยออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้มงวดในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ มีการเปลี่ยนคำจำกัดความต่างๆ ซึ่งแบงก์ชาติจะดูแลเฉพาะสถาบันการเงินโดยไม่คำนึงถึงลูกค้า และยิ่งไปสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้เงินตึงตัวและทำให้ธุรกิจเดือดร้อนได้"นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ในอนาคตถ้าเกิดภาวะเงินตึงตัวและอัตราดอกเบี้ยสูงจะทำให้ภาคธุรกิจที่แท้จริงมีต้นทุนมากขึ้น Credit Term จะสั้นลง การซื้อขายสินค้าจะต้องชำระเป็นเงินสด ลดปริมาณการเก็บสินค้าคงคลัง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคธุรกิจโดยรวมได้
นอกจากนี้ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงจะทำให้ตลาดพันธบัตรปรับตัวลดลง เพราะมูลค่าพันธบัตรจะผันผวนตามทิศทางดอกเบี้ย และเชื่อว่าจะเชื่อมโยงไปยังตลาดหุ้นที่จะเห็นทิศทางในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ภาคสถาบันการเงินนั้นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) จะย้อนกลับมาได้อีก หาก ธปท.ยังคงใช้คำจำกัดความแบบเดิมในการตั้งสำรอง โดยเฉพาะการมี IAS39 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองหนี้มากขึ้น และอาจทำให้แบงก์ต้องเพิ่มทุน ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะส่งผลกลับมาทำให้การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินในการออกพันธบัตรต่างๆ เป็นไปได้ยาก และในที่สุดอาจเกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน
พร้อมมองว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงต่อจากนี้ โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนไปแตะ 35 บาท/ดอลลาร์ก่อนสิ้นปีนี้ และจะทะลุไปถึง 40 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงปีหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะยิ่งส่งผลต่อราคาพลังงานที่นำเข้าให้มีราคาสูงขึ้น และยิ่งจะเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตามมาในที่สุด
นายวีรพงษ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า จะต้องมีการปรับทัศนคติใหม่เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้น มาจากปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก ซึ่งหากจะใช้นโยบายการคลังด้วยการลดภาษีด้านพลังงานหรือการชดเชยราคาพลังงานก็สามารถทำได้ แต่ส่วนตัวแล้วไม่สนับสนุนเพราะถือเป็นการขัดขวางกลไกตลาดและยิ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวช้าลง สร้างภาระการคลังมากขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำตอนนี้คือ การตั้งรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการดูแลรักษาเสถียรภาพ ซึ่งทำได้ 2 ทาง คือการใช้นโยบายการเงิน และการใช้กลไกตลาดในการนำไปสู่ดุลยภาพและเสถียรภาพ ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มลดลง รัฐบาลต้องเข้าไปลงทุนแทน มีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อเร่งนำงบประมาณไปใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็กท์โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะช่วยลดต้นด้านพลังงาน
นอกจากนี้ควรมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่นโยบายการเงินนั้น ธปท.ไม่ควรจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่แต่ในตำราเท่านั้น เช่น ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะในสภาพที่แท้จริงอาจจะดำเนินการเช่นนั้นไม่ได้ นอกจากนี้ ธปท.จะต้องดูแลปริมาณเงินในระบบให้เพียงพอ เพื่อให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้ อย่ามองเพียงแค่ความมั่นคงของสถาบันการเงินโดยมองข้ามความมั่นคงของลูกค้า
นายวีรพงษ์ มองว่า ในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ ธปท.ควรผ่อนคลายกฎระเบียบของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติต่อลูกค้า เพราะภาวะเช่นนี้ลูกค้าต่างมีความต้องการสภาพคล่อง เพราะหากเข้มงวดกับลูกค้าก็จะยิ่งเป็นการบีบลูกค้า และส่งผลย้อนกลับมาที่ธนาคารพาณิชย์ด้วย
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยควรจะขึ้นหรือลงนั้นขึ้นอยู่กับตลาด ซึ่งควรต้องแยกออกจากกันระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ธปท.ควรจะชัดเจนในการดำเนินนโยบาย แม้เงินเฟ้อจะปรับขึ้นเป็นเลข 2 หลักก็ควรจะแยกให้ชัดเจนเพราะตลาดเงินขึ้นอยู่กับสภาพคล่อง ส่วนนโยบายการคลังเห็นด้วยกับนโยบายการเพิ่มรายได้ และการใช้งบประมาณแบบขาดดุล
ด้านสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ยอมรับว่าภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศมีความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยดีแล้ว และนักลงทุนต่างประเทศยังพอใจกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการปฎิวัติ ดังนั้นหากการเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีความรุนแรงมาก เพราะเห็นได้จากที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าต้องให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี แต่เรื่องการปฏิวัติก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลนี้มุ่งจะแก้แต่ปัญหาด้านการเมืองอย่างเดียวโดยไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วประชาชนก็จะหยุดการใช้จ่าย และไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--