รมว.พลังงาน แนะภาคอุตสาหกรรมรีบเปลี่ยนใช้พลังงานอื่นแทน LPG ก่อนลอยตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 10, 2008 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รมว.พลังงาน แนะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนชนิดอื่นแทนก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เพื่อลดผลกระทบเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับขึ้นราคาแอลพีจีในเดือน ก.ค.นี้
"อยากเรียกร้องให้โรงงานอุตสาหกรรมเร่งลดการใช้แอลพีจีแล้วหันมาใช้เชื้อเพลิงอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติแทน หรือหาแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน เช่น การนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดผลกระทบจากการปรับราคาแอลพีจีที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบได้ในระยะยาว" พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน กล่าว
ปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้แอลพีจีมากขึ้น โดยมียอดการใช้ในเดือน ก.ค.มีจำนวนกว่า 60,000 ตันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาแอลพีจีในเดือน ก.ค.นี้หากไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ เพราะมีทางเลือกต่างจากภาคครัวเรือน
รมว.พลังงาน กล่าวว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีจะมีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนให้ ปตท.เร่งวางท่อก๊าซธรรมชาติย่อยไปยังแหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงงานเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติแล้ว คาดว่าภายใน 3 ปี โครงการเดินท่อก๊าซธรรมชาติย่อยน่าจะแล้วเสร็จในบางส่วน
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีโครงการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในหลายด้าน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน หรือปรับเปลี่ยนวัสดุ หรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงานให้มากขึ้น ได้แก่ โครงการสินเชื่อพลังงานภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งมีวงเงินที่พร้อมปล่อยสินเชื่อกว่า 60,000 ล้านบาท ผ่าน 13 สถาบันการเงิน
เนื่องจากราคาแอลพีจีปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยเดือน ก.ค.ราคาอยู่ที่ 920 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีราคา 905 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ปริมาณการใช้แอลพีจีในประเทศยังขยายตัว ทำให้ปริมาณการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคขนส่ง ซึ่งขณะนี้มี ปตท.เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวเพื่อรองรับความต้องการทั้งระบบ ดังนั้นผู้ประกอบการที่จำหน่ายแอลพีจีในภาคขนส่งสามารถนำเข้าเองได้เพื่อดูแลกลุ่มลูกค้าของตนเอง และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดตลาด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ