บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดในสัปดาห์หน้า (14-18 ก.ค.) เงินบาทในประเทศอาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.50-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ควรจับตา ได้แก่ แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้าและนักลงทุนต่างชาติ ทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของ ธปท. และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 16 ก.ค.
ตลอดจนทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญประกอบด้วย ผลสำรวจภาคการผลิตจัดทำโดยเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจจัดทำโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยจัดทำโดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) เดือนกรกฎาคม ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้าง เดือนมิถุนายน ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ และสตอกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพฤษภาคม ตลอดจนบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)เมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย.
นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังจับตาผลประกอบการจากสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ และแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดในช่วงวันที่ 15-16 ก.ค.อีกด้วย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-11 ก.ค.) อ่อนค่าแตะ เกือบ 33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับการเทขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ และ เงินบาทยังถูกกดดันจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้า โดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน และการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคบางงสกุล
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เป็นการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของ ธปท. ตลอดจนแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก และความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยมายืนที่ระดับประมาณ 33.64 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 33.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ก.ค.)
. -สำนักข่าวไทย
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--