KBANKคาดแนวโน้มดบ.ขึ้นสินเชื่อบ้านอาจชะลอ หลัง 5 เดือนขยาย 11.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 12, 2008 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  (KBANK) กล่าวว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเป็นสินเชื่อกลุ่มหลักที่สำคัญของธนาคาร เพราะในช่วง 5 เดือนแรกของปี 51 ขยายตัวร้อยละ 11.9 เพิ่มจากปีก่อนที่ร้อยละ 4 ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ธนาคารพาณิชย์จะเร่งทำกลยุทธ์ทางการตลาดในเชิงรุก เพราะถึงอย่างไรสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ยังมีความเสี่ยงต่ำที่สุด 
แม้ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในขณะนี้ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ย่อมกระทบต่อลูกค้าบัตรเครดิต ผู้ผ่อนชำระค่างวดต้องมีภาระเพิ่มสูงขึ้นนั้น
พร้อมยอมรับว่า กระทบสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบมีอยู่ประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบที่ต่างกันระหว่างลูกค้าเก่าที่ซื้อบ้านไปแล้ว กับลูกค้าใหม่ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยอาจต้องมีภาระมากขึ้น เช่น การซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท จะมีสัญญาการผ่อนชำระในช่วง 20 ปี ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน แม้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นลง ก็ยังผ่อนชำระในระดับเดิม
สำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องการซื้อบ้าน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7.25 หากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้ประชาชนมีภาระผ่อนส่งสูงขึ้นร้อยละ 6 หรือผ่อนชำระเพิ่มจากเดิม 480 บาท เพิ่มเป็น 8,480 บาทต่อเดือน แต่มองว่าในช่วงครึ่งหลังนี้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ภาระผ่อนบ้านใหม่จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 หรือประมาณ 240 บาทต่อเดือน
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) กล่าวว่า สถานการณ์จำหน่ายสินทรัพย์รอการขายหรือสินทรัพย์ปลดภาระจากการดำเนินคดีที่นำออกมาจำหน่าย รวมถึงบ้านมือสองในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าแม้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่บ้านเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนยังมองหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะนี้ราคาก็จะไม่สูงมากนัก เพราะบ้านที่สร้างเสร็จแล้วหรือบ้านมือสองมีต้นทุนเดิมจากการก่อสร้างในช่วงราคาวัสดุก่อสร้างไม่แพง จึงเหมาะสำหรับมองหาซื้อบ้านในช่วงนี้
แต่หากระยะเวลาล่วงเลยไปถึงปี 52 ราคาบ้านจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 30 เพราะต้องคำนวณจากราคาวัสดุใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน เหล็ก ปูนซิเมนต์ สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้เห็นด้วยกับบรัฐบาลที่มีแนวทางจัดทำงบกลางปีเพิ่มเติม หรือการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อใช้นโยบายการคลังอัดเงินเข้าสู่ระบบ นอกจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ