ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 51 มีมูลค่าประมาณ 176,364 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.3 เป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 167,550 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.9
โดยเป็นตลาดบริการด้านเสียง(Voice Service)จะมีมูลค่าประมาณ 159,619 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 และตลาดบริการเสริมทีี่ไม่ใช่เสียง(Non-Voice Service) มีมูลค่าประมาณ 16,745 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 16 และคาดจำนวนเลขหมายจะเพิ่มไปอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านเลขหมาย ให้สัดส่วนจำนวนเลขหมายต่อประชากร (Penetration Rate) เพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับร้อยละ 100 มากขึ้น
"การที่จำนวนเลขหมายเพิ่มขึ้นนี้สาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้บริโภคในตลาดส่วนหนึ่งหันมานิยมใช้เลขหมายที่สองมากขึ้น เนื่องจากการจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมส่งเสริมตลาดของผู้ให้บริการ แต่หากพิจารณาจากจำนวนผู้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน และมักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญในภูมิภาค" บทวิจัยฯ ระบุ
จึงมองว่า ผู้ให้บริการมีโอกาสในการขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวได้ รวมทั้งยังมีโอกาสขยายตลาดในกลุ่มอายุใหม่ๆ ด้วย เช่น กลุ่มอายุก่อนวัยรุ่น (Preteen) กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 51 คาดจะมีมูลค่าประมาณ 88,537 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 5.5 โดยแบ่งเป็นตลาดบริการด้านเสียง มีมูลค่าประมาณ 80,381 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 และตลาดบริการเสริมที่ไม่ใช่เสียง มีมูลค่าประมาณ 8,156 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 17
จากในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 87,827 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 5 โดยแบ่งเป็นตลาดบริการด้านเสียงมีมูลค่าประมาณ 79,238 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 4 และตลาดบริการเสริมที่ไม่ใช่เสียง มีมูลค่าประมาณ 8,589 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 15
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุช่วงครึ่งปีหลังคาดอัตราเติบโตในระดับใกล้เคียงหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงครึ่งปีแรก เป็นเพราะได้รับปัจจัยวก จากการปรับตัวของผู้บริโภคที่รับรู้ถึงแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สามารถวางแผนลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและหันมาใช้การติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น รวมทั้งภาคธุรกิจซึ่งคาดว่าจะต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานและหันมาใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากขึ้น ตลอดจนการเริ่มเปิดให้บริการระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมก็น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดให้กลับมาคึกคึก
ในขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก ต้องเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--