ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย.51 พบว่า ดัชนีทุกตัวปรับลดลงจากเดือน พ.ค.51
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 70.8 ลดลงจาก 71.8 ใน พ.ค.51 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 71.1 ลดลงจาก พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 71.8 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.0 ลดลงจาก พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 92.8
ปัจจัยลบสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกตัว เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 40 บาท/ลิตร, ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ, ความวิตกกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินบาทอ่อนค่า ตลอดจนความกังวลต่อปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีกต่อเนื่องในเดือน ก.ค.-ส.ค.51 เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2/51 ลดลงต่ำกว่าช่วงไตรมาส 1/51 จากปัจจัยลบเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น, ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมือง
"ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายและมีความชัดเจน"นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับภาวะการบริโภคในประเทศจะชะลอตัวไปจนถึงสิ้นปี และฟื้นตัวในปีหน้าหากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นการส่งออก ไม่ใช่การบริโภคภายในประเทศและการลงทุน
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ จะมีการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ โดยขอรอดูเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง นโยบายการคลัง และการส่งสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังคงยืนยันคาดการณ์จีดีพีที่ 5-5.5% และเงินเฟ้อ 7.2-7.8%
ด้านนางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อนุมัติให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ และยังไม่ช่วยให้ปัญหาเงินเฟ้อคลี่คลายลงด้วย ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยควรเป็นไปในแบบค่อยเป็นค่อยไป
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--