นายชาร์ลส เชิง ประธานคณะอนุกรรมการด้านแข่งขันทางการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และผู้ผลิตสินค้า(ซัพพลายเออร์) หรือไกด์ไลน์ค้าปลีกมาตั้งแต่ปี 49 แต่จนถึงปัจจุบันพบว่าการบังคับใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ยังมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบซัพพลายเออร์อย่างต่อเนื่อง
"แม้มีไกด์ไลน์แล้ว แต่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ก็ยังไม่เลิกเอาเปรียบซัพพลายเออร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในไกด์ไลน์ยังเปิดโอกาสให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และซัพพลายเออร์สามารถทำสัญญากันได้อย่างยืดหยุ่น จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องปรับปรุงแก้ไขไกด์ไลน์ใหม่" นายชาร์ลส ระบุ
พร้อมกันนี้ได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระงับข้อพิพาทภายใต้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเพื่อพิจารณาข้อพิพาทระหว่างผู้ค้าปลีกรายใหญ่และซัพพลายเออร์ โดยขอให้รัฐบาลตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสัดส่วนตลาดของรายใหญ่ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างรายใหญ่และรายเล็ก รวมทั้งเพื่อไม่ให้มีอำนาจผูกขาดในตลาดได้
ด้านนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการค้าหอการค้าไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจนในการกำกับดูแลการทำธุรกิจค้าปลีก แม้ขณะนี้จะมองว่าประชาชนได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าราคาถูก แต่ในอนาคตหากรัฐบาลปล่อยปละละเลย ไม่สนใจแก้ปัญหา จะมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้นที่ครองตลาด และในที่สุดก็จะบีบซัพพลายเออร์ให้ขายสินค้าให้ในราคาถูก แล้วนำมาขายต่อให้ผู้บริโภคในราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเพราะเหลือรายใหญ่ครองตลาด ขณะที่โชห่วยจะล้มหายตายไปจากระบบ
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--