แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะแถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในช่วงบ่ายวันนี้จะใช้ชื่อว่า "มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้กับประชาชนชั่วคราวในยุคน้ำมันแพง" เป็นมาตรการชั่วคราวที่มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป
มาตรการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านครัวเรือน
"รัฐบาลตั้งใจว่ามาตรการที่ออกมาจะสร้างเซอร์ไพร์สให้กับประชาชน และประชาชนส่วนใหญ่จะพอใจ"แหล่งข่าว ระบุ
มาตรการที่จะนำมาช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ มาตรการลดราคาค่ารถโดยสารสาธารณะ, มาตรการลดค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนรายย่อย และมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์
แหล่งข่าว ระบุว่า มาตรการที่ออกมาครั้งนี้ถือเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเร่งด่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่แต่ละกระทรวงเพิ่งคิดขึ้นเพื่อทดแทนการแจกคูปองคนจน เพราะตัวชี้วัดมาตรการใหม่นี้มีความชัดเจนมากกว่าการแจกคูปองคนจน
สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95, แก๊สโซฮอล์ 91 และ E20 เหลือระดับ 0.001-0.006 บาท/ลิตร จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 3.3165 บาท/ลิตร รวมทั้งปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และไบโอดีเซล B5 เหลือ 0.001-0.006 บาท/ลิตร จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีของดีเซลที่ 2.3050 บาท/ลิตร และ B5 ที่ 2.1898 บาท/ลิตร
ส่วนมาตรการลดค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า โดยกำหนดอัตราการใช้ขั้นต่ำสำหรับครัวเรือนรายย่อยที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บเป็นระยะเวลา 6 เดือนเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดอัตราค่าโดยสารสาธารณะ โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จะจัดรถโดยสารประจำทางเพื่อให้บริการฟรีแก่ประชาชนจำนวน 3-6 พันคัน และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะจัดขบวนรถไฟชานเมืองและรถไฟชั้น 3 ให้บริการฟรีเช่นกัน
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--