ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณนอกชายฝั่ง เพื่อขยายอุปทานน้ำมันภายในประเทศในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และยังได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง ด้วยการเปิดทางให้บริษัทน้ำมันต่างๆสามารถดำเนินการในบริเวณชายฝั่ง
การออกมายกเลิกคำสั่งของบุชครั้งนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากสภาคองเกรสเองก็ออกคำสั่งห้ามการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อได้เป็นผู้ลงนามเมื่อปี 2533
บุชกล่าวว่า การยกเลิกคำสั่งห้ามครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะลดแรงกดดันจากราคาน้ำมัน เรายังคงใช้นโยบายการอนุรักษ์ที่ดีๆอยู่ และจำเป็นต้องเพิ่มอุปทานน้ำมัน โดยเฉพาะอุปทานในประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินที่สหรัฐสามารถนำมาใช้ได้ก็คือ การขยายขอบเขตการผลิตน้ำมันของสหรัฐเอง ด้วยการเปิดทางให้มีการสำรวจแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งมากขึ้น ซึ่งการยกเลิกคำสั่งจะทำให้คำสั่งที่มีอยู่เดิมในเรื่องการห้ามการสำรวจน้ำมันถูกยกเลิกไป ซึ่งก็เหลือเพียงเสียงอนุมัติจากสภาคองเกรสเท่านั้นที่จะช่วยให้ชาวอเมริกันมีแหล่งน้ำมันจำนวนมาก
พรรคเดโมแครตมองว่า การยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวอาจจะไม่ได้ช่วยคลายความวิตกกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นได้ เนื่องจากการขุดเจาะน้ำมันแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการนาน แม้ว่าคำสั่งห้ามจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในตลาด NYMEX เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พุ่งสูงขึ้นประมาณ 100 ดอลลาร์จากระดับปลายปีที่แล้ว
ราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐปัจจุบันราคากว่า 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน บุชกล่าวว่า เวลานี้เป็นช่วงที่ลำบากสำหรับครอบครัวชาวอเมริกัน เงินทุกดอลลาร์ที่ใช้จ่ายไปสำหรับการซื้อน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ เงิน 1 ดอลลาร์มีค่าน้อยลงเมื่อนำมาใช้ซื้ออาหารหรือไส่งเด็กๆไปโรงเรียน
ทั้งนี้ มีการประเมินว่ามีแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งสหรัฐ 1.8 หมื่นล้านบาร์เรลที่ยังไม่ได้มีการดึงมาใช้งาน เนื่องจากคำสั่งห้ามขุดเจาะที่ใช้มาเป็นเวลานานถึง 27 ปี สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--