นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดแถลงมาตรการ"6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อไทยทุกคน"เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.51 จนถึงวันที่ 31 ม.ค.52
"เมื่อถึงเวลาที่เราเห็นว่าจะใกล้ 6 เดือนจึงได้กำหนดมาตรการ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของบ้านเมือง ไม่ใช่ความโง่เง่าไม่เข้าท่าของรัฐบาลชุดนี้ มันไม่ใช่ความไม่รอบรู้ของรัฐบาลชุดนี้...น้ำมันเป็นตัวที่ก่อให้เกิดเหตุ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอสภาพนี้" นายสมัคร กล่าว
มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันถูกลง, ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ภาคครัวเรือน, ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา โดยหากใช้ไม่เกินเดือนละ 50 ลูกบาศก์เมตรไม่ต้องจ่ายเงิน, ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับไฟฟ้า หากใช้ไม่เกินเดือนละ 80 ยูนิตไม่ต้องจ่ายเงิน และรัฐจะจ่ายให้ครึ่งหนึ่งถ้าใช้เกินเดือนละ 80 ยูนิตแต่ไม่เกิน 150 ยูนิต, ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยจัดรถเมล์ร้อนบริการฟรี 800 คันใน 73 เส้นทาง จากที่มีรถเมล์ร้อนทั้งหมด 1,600 คัน และ รถไฟชั้น 3 ให้บริการฟรีทั่วประเทศ
"ไม่ใช่ฟรีนะครับ แต่รัฐบาลออกให้ หน่วยงานยังได้เงินอยู่ รัฐบาลจะมีเงินที่ไปออกให้ แต่เอาไปแจกไปจ่ายเป็นคูปองไม่ได้" นายสมัคร กล่าว
นายสมัคร กล่าวว่า ส่วนการนำเข้าน้ำมันดีเซลราคาถูกจากประเทศรัสเซียที่มีปริมาณกำมะถันสูงนั้น คณะรัฐมนตรีวันนี้มีมติรับหลักการไว้แล้ว จาดนี้ดวาจะใช้เวลา 60 วันเพื่อตรวจสอบคุณภาพและเตรียมการทุกอย่าง คาดว่าจะนำเข้ามาในปริมาณ 3 แสนลิตร/วัน เพื่อขายผ่านสหกรณ์ไปยังผู้ใช้ในต่างจังหวัดแทนน้ำมันเขียวและน้ำมันม่วง โดยจะมีราคาถูกกว่าดีเซลปกติ 8 บาท/ลิตร
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้น ในส่วนของแก๊สโซฮอล์หลังปรับลดภาษีแล้วจะทำให้ถูกลงอีกลิตรละ 3.88 บาท/ลิตร ทำให้แก๊สโซฮอล์ถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ถึงลิตรละประมาณ 8 บาท และยังช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ขณะที่น้ำมันดีเซลหลังปรับลดภาษีสรรพสามิตแล้วจะถูกลง 2.47/2.71 บาท/ลิตร โดยต้องรอการออกประกาศกระทรวงกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลในวันที่ 25 ก.ค.นี้
พ.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ทาง บมจ.ปตท.(PTT) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) จะสนับสนุนโครงการขึ้นรถเมล์และรถไฟฟรีด้วยการจำหน่ายน้ำมันดีเซลราคาต่ำกว่าท้องตลาด 3 บาท/ลิตรให้เป็นเวลา 6 เดือน
ส่วนการปรับลดภาษีนั้นต้องขอเวลาประมาณ 7-9 วัน เพื่อเช็คสต็อกน้ำมันที่เหลืออยู่ และเชื่อว่าหลังจากปรับลดภาษีสรรพสามิตแล้วจะมีประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานรับรองว่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างแน่นอน
*รัฐเสียงบ 4.6 หมื่นลบ.หวังช่วยพยุงเงินเฟ้อปีนี้ไม่ให้เกิน 6-7% GDP ครึ่งปีหลังโตกว่าคาด
นายสมัคร กล่าวว่า มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติฯ น่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท แต่จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชนตก 1 พันบาท/เดือน/ครัวเรือน แบ่งเป็นค่าน้ำค่าไฟ 300-400 บาท/เดือน/ครัวเรือน ขณะที่ค่าเดินทางลดลง 400-500 บาท/เดือน/ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม จากเอกสารของกระทรวงการคลังประเมินว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 4.94 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 3.2 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับไฟฟ้า 1.2 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายน้ำประปา 3.9 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 1.47 พันล้านบาท
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีหลังหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการเหล่านี้มาดูแลจะส่งผลเรื่องเงินเฟ้อ รายจ่ายค่าครองชีพ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอาจไม่ได้ตามเป้า และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ซึ่งมาตรการล่าสุดจะช่วยฝห้อัตราเงินเฟ้อในปี 51 ปรับตัวสูงขึ้นไม่เกิน 6-7% จากที่มีผู้คาดการณ์ว่าอาจโตเกิน 2 digit จากผลกระทบราคาน้ำมัน โดยในครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 9%
สำหรับในส่วนของการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันถูกลงที่คาดว่ารัฐอาจเสียรายได้ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทนั้น คาดว่า หลังจากมาตาการออกไปแล้วจะช่วยทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้ปกติ และเก็บภาษี VAT ได้ตามเป้า เพราะฉะนั้นอาจเสียแค่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่ 6 มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GPD) ในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น 0.3-0.5% จากที่คาดการณ์ไว้ 5.5-6.0%
พร้อมยืนยันว่าช่วง 6 เดือนที่มีมีมาตรการ" 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน" รัฐบาลจะไม่ยุบสภาเพื่อใช้เป็ฯทางการออกทางการเมืองแน่นอน
"ไม่มีัการยุบสภา ไม่อยู่ในความคิดเรา หากยุบสภาจะมีสูญญากาศทางการเมืองและไม่เกิดประโยชน์ เราไม่ได้ทำมาตรการนี้เพื่อหวังผลจากการเลือกตั้ง" รองนายกฯและรมว.คลังกล่าว
รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตุว่า การให้รัฐวิสาหกิจให้มาอุดหนุนนโยบายของภาครัฐจะไม่กระทบต่อรายได้และโบนัสของรัฐวิสาหกิจ โดยจะนำผลประกอบการจากครั้งนี้ไปรวมในบัญชีพิเศษ PSO เพราะฉะนั้นพนักงานที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องไม่ต้องกังวลว่ารายได้จะลดลงหรือผลประกอบการรัฐวิสาหกิจจะแย่ลง
สำหรับโครงการคูปองคนจน รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ได้ยกเลิกโครงการไปแล้วเนื่องจากติดขัดในเรื่องของคำนิยาม และเกรงจะเกิดปัญหาการรั่วไหลของการจัดสรรคูปอง
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--