ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลกในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในสหรัฐ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความคิดเห็นที่ค่อนข้างลบต่อภาคการเงินสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ร่วงลงหนักสุดนรอบ 17 ปีได้ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลดังกล่าวได้บ้าง และช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ให้ไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงแตะระดับ 104.75 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 106.14 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0099 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0159 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.5900 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5903 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 2.0043 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9940 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7717 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7645 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.9785 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9717 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
นักลงทุนตื่นตระหนกและเทขายสกุลเงินดอลลาร์อย่างหนักเมื่อประธานเฟดแถลงต่อสภาคองเกรสว่า "เศรษฐกิจสหรัฐเปราะบางอย่างมากและกำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากแม้ว่าเฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้งแล้วก็ตาม" พร้อมกับเตือนว่าราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้นกำลังสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้กับเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น
"ผมคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัย ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ" เบอร์นันเก้กล่าว
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ที่ร่วงลงกว่า 6 ดอลลาร์ได้ช่วยพยุงดอลลาร์สหรัฐให้ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับเงินเยน โดยเมื่อคืนนี้ราคาน้ำมันดิบร่วงลง 6.44 จุด หรือ 4.4% ปิดที่ 138.74 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนักเพราะกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
ธนาคารกลางอังกฤษรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวแตะ 3.8% ในเดือนมิ.ย. จาก 3.3% ในเดือนพ.ค. อันเป็นผลมาจากราคาอาหารและน้ำมันที่พุ่งสูงต่อเนื่อง โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ว่าไม่ควรเกิน 2% ดังนั้นความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอังกฤษจะลดดอกเบี้ยจึงมีน้อยมากในตอนนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--