นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ธ.กรุงไทย(KTB) ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เห็นว่า ธปท.ควรยกเลิกนโยยายสกัดเงินเฟ้อด้วยวิธีการ Inflation Targeting ที่มีการกำหนดกรอบ Core CPI ไว้ที่ 0-3.5% โดยเห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะขณะนี้สภาพคล่องในตลาดเงินลดลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนใหญ่ระดมทุนมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน จึงไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะนี้เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์
"ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อเรื่อง Inflation Targetting แต่ใช้ไม่ได้ในสภาพการณ์อย่างนี้ ขึ้นดอกเบี้ยเท่าไรก็ช่วยไม่ได้" นายชัยวัฒน์ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"จะอยู่อย่างไรใน พ.ศ. นี้"
หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อใช้ชะลอเงินเฟ้อ คงต้องอธิบายมาก โดยหากต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่อาศัยดอกเบี้ยในการดำรงชีพ และเพื่อให้เกิด capital flow ก็ยังพอรับได้ ไม่ใช่ขึ้นเพื่อไปสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังชะลอตัวและภาวะการเงินผันผวน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาขนและอาจกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศไทยด้วย คาดว่าประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้อีกนาน
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่เป็นปัญหาขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐที่ทำให้สถาบันการเงินประสบภาวะขาดทุนและคาดว่าจะมีหลายสถาบันการเงินประสบปัญหาขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก โดยมองว่าภาวะซับไพร์มจะส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างน้อย 2-3 ปี
ทั้งนี้ การที่ปัญหาซับไพร์มส่งผลโดยตรงต่อสหรัฐและส่งผลต่อเนื่องยังประเทศอื่น เช่น ภาคการส่งออกของประเทศเกิดใหม่มีตลาดส่งออกเป็น อเมริกา ยุโรป และ ญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อการชะลอการนำเข้าด้วย
ดังนั้น ไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อความอยู่รอดและปรับตัวในพ.ศ.นี้ เพราะการตกต่ำทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อเนื่องประเทศเอเชียประสบกับภาวะ oil shock และยังส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--