เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลกในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.ค.) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบร่วงลงและรายงานของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อขยายตัวเร็วขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 105.06 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 104.63 เยน/ดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0174 ฟรังค์สวิส/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0085 ฟรังค์สวิส/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงที่ระดับ 1.5816 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5918 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9989 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 2.0056 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ขยับลงแตะระดับ 0.7708 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7715 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.9735 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9787 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้ สหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารที่แพงขึ้นได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเขต 15 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรพุ่งขึ้นทำสถิติที่ 4% ในเดือนมิ.ย. จาก 3.7% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติเมื่อ 16 ปีก่อน
ธนาคารกลางยุโรปพยายามที่จะบรรเทาสถานการณ์ราคาที่สูงขึ้นด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 4% เป็น 4.25% แต่ก็ยอมรับว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงขึ้นต่อไปจนกระทั่งปลายปีหน้า
โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรา เนื่องจากจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า แต่นักวิเคราะห์ยังสงสัยว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในยูโรโซนเร็วๆนี้หรือไม่
"เราคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่อ่อนแอลง ตลาดสินเชื่อที่ยังคงตึงตัว และสกุลเงินยูโรที่แข็งค่ามากจะควบคุมเงินเฟ้อในท้ายที่สุด และจะบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้มากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า" โฮเวิร์ด อาร์เชอร์ นักวิเคราะห์จากโกลบอล อินไซท์ กล่าว
"ผลที่ตามมาก็คือ เราคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 4.25% ตลอดช่วงเวลาที่เหลือในปี 2551 และจะค่อยๆลดลงที่ละน้อยในปี 2552 จนแตะระดับ 3.50% ในไตรมาสสามปีหน้า"
ขณะเดียวกัน ประเด็นเงินเฟ้อก็กำลังร้อนแรงในสหรัฐ โดยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคกระโดดขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งย่ำแย่กว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้มาก และเป็นอัตราขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดเป็นอันดับสองในรอบ 26 ปี ซึ่งราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นคิดเป็น 2 ใน 3 ของ CPI ที่ทะยานขึ้นดังกล่าว
เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวต่อสภาคองเกรสเมื่อวันอังคารว่า เฟดกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ เฟดกำลังเผชิญความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายอันเป็นผลมาจากตลาดที่อยู่อาศัยที่ซบเซามาเป็นระยะเวลานานและจากตลาดสินเชื่อที่ตึงตัวอย่างหนัก ขณะที่เงินเฟ้อกลับพุ่งสูงขึ้น
นักวิเคราห์จำนวนมากเชื่อว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่เหลือในปีนี้
ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อคืนนี้ จากความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะจำกัดความต้องการเชื้อเพลิง โดยสัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ร่วงลง 4.14 จุด ปิดที่ 134.60 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่ดิ่งลงไปแตะที่ 132 ดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างวัน โดยเมื่อวันอังคารสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงถึง 6.44 ดอลลาร์
เงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ โดยสามารถดึงดูดนักลงทุนให้ทุ่มเงินซื้อเพื่อเก็งกำไรด้วยเหตุที่น้ำมันดิบถูกลงสำหรับผู้ซื้อต่างชาติ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--