ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ทั้งปี 51 มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 6 แสนล้านบาท ขณะที่กระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนประมาณ 10-20% หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 5,900-6,700 ล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสำคัญ
ทั้งนี้วิกฤติราคาน้ำมันและเงินเฟ้อส่งผลต่อการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งประเทศที่ระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะได้รับผลกระทบมากทำให้อุตสาหกรรมที่ทำการผลิตอยู่ในไทยค่อนข้างเสียเปรียบเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่ง เนื่องจากทางเลือกอื่นๆ เช่น ระบบราง ในไทยยังมีข้อจำกัด
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อไม่เพียงแต่มีนัยต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงความน่าลงทุนของประเทศในภูมิภาคซึ่งค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ประกอบกับระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและต่อค่าจ้างแรงงาน โดยตั้งปลายปี 50 หลายประเทศได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งค่าจ้างที่แพงขึ้นเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องแบกรับและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดสถานะการแข่งขันของประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ความได้เปรียบของปัจจัยการผลิต ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้เป็นสิ่งหลักที่นักลงทุนข้ามชาติให้ความสำคัญและใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุนในที่ใดที่หนึ่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ การบริหารจัดการโดยใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อและในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
"หากการคาดการณ์เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเป็นแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้นอีก และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า wage-price spiral ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ การดูแลเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และพยายามกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) และโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่ง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ นอกจากนี้การสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทยเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง เพราะสถานการณ์ด้านการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการเหล่านี้ล่าช้า รวมทั้งอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในเรื่องของนโยบาย ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานะการแข่งขันของประเทศในระยะยาวและความน่าดึงดูดของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--