ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆเมื่อคืนนี้ (21 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเรื่องปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐ แม้แบงค์ ออฟ อเมริกา รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีเกินคาด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 106.69 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 106.95 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0199 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0225 ฟรังค์/ดอลลาร์
ขณะที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.5898 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5846 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.9991 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9981 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 0.7608 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7623 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.9760 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9705 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
แบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐนอร์ท แคโรไลน่า รายงานว่าผลกำไรไตรมาส 2 ร่วงลง 41% แตะระดับ 3.41 พันล้านดอลลาร์ หรือ 72 เซนต์ต่อหุ้น ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 5.76 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.28 ดอลลาร์ต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กำไรในไตรมาสสองของธนาคารจะอยู่ที่ 54 เซนต์ต่อหุ้น
เดวิด โซลิน นักวิเคราะห์จากบริษัทฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ อนาไลติก กล่าวว่า "ดอลลาร์อ่อนตัวลงแม้แบงค์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่กดค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงมาจากภาวะการซื้อขายที่ซบเซาในตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า 2 ดอลลาร์"
ค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากกระทรวงการคลังเยอรมนีที่ระบุว่า แม้เศรษฐกิจเยอรมนีชะลอตัวลงในไตรมาส 2 แต่คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น และจะช่วยพยุงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรปให้ฟื้นตัวขึ้นด้วย
เอิร์นส์ แอนด์ ยัง ไอเท็ม คลับ (Ernst & Young Item Club) ระบุว่า อังกฤษอาจเผชิญเผชิญอุปสรรคในการประคับประคองประเทศให้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ตัวเลขว่างงานจะยิ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีหน้า
เอิร์นส์ แอนด์ ยัง ไอเท็ม คลับคาดการณ์ว่า ในปีหน้า ตัวเลขผลผลิตภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษจะขยับขึ้นเพียง 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะยังทรงตัวเหนือกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในระดับ 1-3% ส่วนอัตราว่างงานจะขยายตัวขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เอิร์นส์ แอนด์ ยัง คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในฤดูร้อนนี้ ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นในยามที่ต้องเผชิญผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--