อัตราเงินเฟ้อรายปีของออสเตรเลียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่สอง ซึ่งตอกย้ำกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีต่อไป
นักวิเคราะห์จากโพลล์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของออสเตรเลียอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาสที่สองซึ่งพุ่งสูงขึ้น 4.3% ต่อปี และสูงขึ้นจากระดับ 4.2% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยสำนักงานสถิติจะรายงานตัวเลขดังกล่าวในเวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันพรุ่งนี้
ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบที่พุ่งทะยานขึ้น 74% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาทำให้มีความเป็นไปได้น้อยมากที่นายเกล็น สตีเว่นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าสภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 17 ปี ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 7.25% ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 2-3% ตามที่ตั้งเป้าไว้
"หากตัวเลขเงินเฟ้อเคลื่อนไหวสูงกว่าระดับคาดการณ์ไม่มากนัก ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะยังคงขยายเวลาในการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมต่อไปในระยะนี้" เคร็ก เจมส์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Commonwealth Bank of Australia กล่าว
ทั้งนี้ นายสตีเว่นส์กำลังเผชิญปัญหาเดียวกับเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน โดยราคาผู้บริโภคในสหรัฐพุ่งขึ้น 5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติการปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ขณะที่ราคาผู้บริโภคในยุโรปไต่ระดับขึ้น 4% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 9.33 น. ตามเวลาซิดนีย์ สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ 97.65 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ ออสเตรเลีย จากระดับ 97.46 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสองปีทรงตัวในระดับเดิมที่ 6.62%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--