อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียประจำเดือนมิ.ย.อาจขยายตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งภาวะดังกล่าวได้กระตุ้นให้เกิดกระแสคาดการณ์เพิ่มมากขึ้นว่า ธนาคารกลางมาเลเซียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2549
นักวิเคราะห์ 19 รายจากโพลล์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของมาเลเซียในเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 6.6% ที่จากระดับในปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์ 12 รายจากทั้งหมด 20 รายคาดว่า ธนาคารกลางมาเลเซียอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่ประชุมวันที่ 25 ก.ค.นี้
มาเลเซียซึ่งใช้นโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับเดิมมานาน 2 ปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจได้รับแรงกดดันเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและอินโดนีเซียให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยามที่ราคาอาหารและน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในสหรัฐจะเป็นภัยคุกคามการเศรษฐกิจของมาเลเซียอยู่ก็ตาม
"ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของมาเลเซียอาจเป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" กิท เว่ย เจิ้ง นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ป อิงค์กล่าว "หากมีสัญญาณบ่งชี้ถึงกระแสคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ธนาคารคงไม่มีทางเลือกและจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด"
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียในปีนี้อาจพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่กลุ่มชาวประมงในญี่ปุ่น สหภาพแรงงานในศรีลังกา กลุ่มคนขับรถบรรทุกในอินเดีย ตลอดจนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในอินโดนีเซียได้ลุกฮือขึ้นก่อเหตุประท้วงภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจนเป็นเหตุให้ต้นทุนเชื้อเพลิงแพงขึ้นทั่วประเทศ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--