(เพิ่มเติม) โตโยต้า คาดตลาดรวมรถยนต์ในประเทศปี 51 ลดเหลือ 6.5 แสนคันจาก 7 แสนคัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 22, 2008 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมในประเทศปี 51 จะลดเหลือ 6.5 แสนคันจาก 7 แสนคัน หลังยอดขายในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาปรับลดลงเป็นครั้งแรก จากผลกระทบราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
สำหรับค่ายโตโยต้าฯ เอง ก็ได้ปรับลดเป้ายอดขายในประเทศเป็น 2.9 แสนคัน มีส่วนแบ่งตลาด 45% จากเดิมตั้งเป้าไว้ 3.1 แสนคัน โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่นมามียอดขาย 1.36 แสนคัน
นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยอมรับว่า ยอดขายรถปิคอัพลดลงไปเพราะราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ยอดขายในช่วง 6 เดือนมีอยู่ 74,569 คัน แต่ทั้งปีบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.65 แสนคัน บริษัทคาดว่าในเดือน ก.ย.ยอดขายจะฟื้นตัว เพราะอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และีราคาน้ำมันน่าจะทรงตัว รวมทั้งมาตรการลดภาษีสรรพสามิตของภาครัฐเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง
"ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงอดทน และพยายามจะให้ข้อมูลการใช้น้ำมันดีเซล ดีกว่าการใช้น้ำมันเบนซินหรือแอลพีจี เมื่อลูกค้ารู้จุดเด่นดีเซลก็จะกลับมาใช้" นายโซโนดะ กล่าว
ทั้งนี้ ยอดขายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(พ.ค.-มิ.ย.)ลดลงไป 5-10% จากปกติที่ขายรถปิคอัพ ทั้งไฮลักซ์วีโกและฟอร์จูนเนอร์ ขายได้ประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นคัน โดยในช่วงดังกล่าวมีความต้องการรถปิคอัพที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินสูงถึง 1-2 พันคัน/เดือน โดยบริษัทได้นำเข้าจากญี่ปุ่น แต่เห็นว่าเป็นการรองรับตลาดในระยะสั้น
ในปลายไตรมาส 3/51 บริษัทจะออกรถปิกอัพรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ไบโอดีเซล (B5) เพื่อให้ผู้ใช้รถมีทางเลือก รวมทั้ง ส่งเสริมการวิจัยเชื้อเพลิงใหม่ ได้แก่ ไบโอไฮโดรจีเนทดีเซล (BHD) ที่ใช้น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์เป็นส่วนผสม ซึ่งขณะนี้ศึกษาวิจัยร่วมกับบมจ.ปตท. คาดว่าปลายปี 52 น่าจะรู้ผลการวิจัย
ขณะเดียวกัน บริษัทส่งเสริมรถยนต์ใช้ก๊าซ CNG ซึ่งในปลายปีนี้จะเปิดตัวรถยนต์โคโรลา ลีโม ที่เหมาะสำหรับใช้เป็นรถแท็กซี่ ในเบื้องต้นคาดยอดขายระดับ 100 คัน รวมทั้งยังสนับสนุนรถที่ใช้เชื้อเพลิง E20 นอกเหนือจากนี้ จะพัฒนารถยนต์ไฮบริดเอนจิ้น รองรับความต้องการในประเทศด้วย
ส่วนรถยนต์ที่รองรับใช้เชื้อเพลิง E85 ในช่วง 1-2 ปี โตโยต้ายังไม่มีแผนผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าว โดยจะรอแผนแม่บทพลังงานของกระทรวงพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วง 3 เดือนนี้ หากภาครัฐสนับสนุนก็คาดว่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาเครื่องยนต์รองรับอีก 4 ปี
"เราอยากให้รัฐบาลมีนโยบายสมดุล ดูทั้งด้านผู้ผลิตและผู้ใช้ ...ทางเราเห็นว่ารถปิคอัพเป็นสินค้าหลักและเป็นยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต๋ไทย ผมเห็นว่ารัฐไม่ควรตรึงราคา LPG" นายโซโนดะ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ