(เพิ่มเติม) ฟิชท์เผยแบงก์พาณิชย์ไทยฟื้นตัวครึ่งปีแรก แม้เผชิญศก.โลกผันผวน-การเมืองไร้ทิศทาง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 22, 2008 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ.2551 ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารสามารถฟื้นตัวได้แม้ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวลงและความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2550 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นใจภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลง อาจส่งผลประทบต่ออัตราการขยายตัวและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ฟิทช์ระบุว่า ธนาคารทหารไทย (TMB) มีผลประกอบการที่โดดเด่น ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารกรุงไทย (KTB) รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้น ส่วนธนาคารพาณิชย์ระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่างธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคาร กสิกรไทย (KBANK) ยังคงมีผลประกอบการโดยรวมที่ดี โดยฟิทช์คาดว่าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองดีขึ้น และอัตราการปล่อยวงเงินกู้ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะช่วยให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศแข็งแกร่งขึ้นอีกในปีพ.ศ.2551
วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินกล่าวว่า "แม้ตลาดสินเชื่อและตลาดหุ้นทั่วโลกตกอยู่ในภาวะผันผวน แต่ธนาคารพาณิชย์ของไทยยังคงมีผลประกอบการที่ดี โดยเฉพาะ SCB, KBANK และ BBL ซึ่งครองอันดับเครดิตที่ BBB+ ทั้ง 3 แห่ง ส่วนผลประกอบการของ TMB ฟื้นตัวขึ้นจากหลายปีก่อน แม้การที่ ING BANK เข้ามาซื้อหุ้นใน TMB อาจส่งผลกระทบบ้างในปีนี้"
"ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน BAY หลังจากเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ GE Capital ในเดือนม.ค.ปีพ.ศ.2550 นั้น คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพอร์ทสินเชื่อและช่วยพยุงผลประกอบการให้ดีขึ้นอีกในปีหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฟิทช์มีมุมมองที่เป็นบวกต่อ BAY" มิลตันกล่าว
อย่างไรก็ตาม มิลตันกล่าวว่า "ราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นเป็นเวลานาน และสถานการณ์การเมืองที่ไร้ทิศทางได้ส่งผลกระทบอัตราการลงทุนและการอุปโภคบริโภค อาจทำให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ คาดว่าความท้าทายรอบด้านที่ธนาคารต้องเผชิญและความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการใจปีหน้าด้วย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ