นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันจะจัดสรรที่ราชพัสดุที่เรียกคืนจากหน่วยราชการ 1 ล้านไร่ให้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น และจะไม่สนับสนุนการจัดสรรให้กับกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร เนื่องจากมองว่ากลุ่มธุรกิจมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าถึงแหล่งทุนที่จะนำมาจัดหาที่ดินได้ไม่ยาก
รมว.คลัง ระบุว่า การจัดสรรที่ราชพัสดุให้เกษตรกรรายย่อยใช้ประโยชน์เพื่อสร้างโอกาสในการทำอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มเติม จะช่วยสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับประเทศชาติได้มากกว่า
"ถ้าหากจะเอาที่ดินไปให้กลุ่มธุรกิจการเกษตร ต้องถามว่าจำเป็นหรือไม่ กลุ่มธุรกิจนี้สามารถไปหาซื้อที่ดินที่อื่นๆ ได้อีกมาก โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนก็ไม่ยาก แต่โอกาสของคนยากจนนั้นไม่มีเลย เพราะฉะนั้นต้องให้เกษตรกรรายย่อยได้มีอาชีพทำเกษตรกรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งช่วยให้มีโอกาสด้านความรู้และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต" นพ.สุรพงษ์ กล่าวในงานสัมมนา"หลอมรวมทุกกลไก 1 ล้านไร่มิติใหม่ที่ราชพัสดุ"
รมว.คลัง กล่าวว่า เงื่อนไขเบื้องต้นของเกษตรกรที่จะได้รับจัดสรรที่ราชพัสดุนั้น จะต้องเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง หรือมีที่ดินไม่มากพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้ หรือเป็นเกษตรกรที่รับจ้างเพาะปลูกอันเนื่องจากไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง
ส่วนการกำหนดค่าเช่าที่ชัดเจนเพราะต้องวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมก่อน แต่ไม่ต้องการให้คิดค่าเช่าถูกเกินไปอย่างไม่มีเหตุผล ขณะเดียวกันระยะเวลาเช่าก็คงไม่เกิน 30 ปี แต่สัญญาเช่าจะไม่ตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และจะยกเลิกสัญญาเช่าทันทีหากมีการนำไปให้คนอื่นเช่าช่วงต่อ
"ในสัญญาเช่าจะต้องกำหนดชัดเจนว่าไม่ให้เช่าช่วง เกษตรกรจะต้องเพาะปลูกด้วยตัวเอง ถ้าละเมิดก็จะถูกยกเลิกสัญญา เราจะมีเจ้าหน้าที่คอยออกไปตรวจสอบเป็นระยะ" นพ.สุรพงษ์ ระบุ
ขณะที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องวิเคราะห์ว่าที่ราชพัสดุแต่ละแห่งมีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชชนิดใด มีแหล่งน้ำมากน้อยเพียงใด การสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และการสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรรักและหวงแหนพื้นที่
ทั้งนี้มีความเป็นห่วงกรณีที่มีกลุ่มนายทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลางซึ่งถือเป็นการล่าอาณานิคมแบบใหม่ ที่จะเข้ากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชอาหารหรือพืชพลังงานหลังจากโลกเกิดภาวะวิกฤติด้านอาหารและพลังงาน นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องการนำพื้นที่การเกษตรไปพัฒนาเพื่อกิจการประเภทอื่น เนื่องจากปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตร 60% อยู่ในกรรมสิทธิ์ของนายทุน
"ผมไม่ห่วงที่ดิน 40% ที่อยู่ในมือเกษตรกร แต่ห่วง 60% ที่ไปอยู่ในมือนายทุน เพราะพื้นที่ในส่วนนี้พร้อมที่จะแปลงสภาพได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมือ ขายทำกำไร อีกหน่อยคนไทยต้องซื้อข้าวที่ปลูกในประเทศจากคนปลูกที่เป็นพวกตะวันออกกลาง ผมเป็นห่วง" รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย เชื่อว่า การเรียกคืนที่ราชพัสดุจากหน่วยงานราชการน่าจะทำได้ครบตามเป้าหมายที่ 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้(เดือน ก.ย.) เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของหน่วยงานราชการ
พร้อมมองว่าการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรควรมีการตรวจสอบที่สำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1.ตรวจสอบพื้นที่ถึงความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิเช่าที่ดินราคาถูกในโครงการ โดยเห็นว่าควรใช้แนวทาง สปก.4-01 มาร่วมกำหนดในเงื่อนไขของเกษตรกรด้วย และ 3.การจัดทำแผนการเพาะปลูกพืชทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณผลผลิตให้เหมาะสม
"เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา(การเรียกคืนที่ราชพัสดุ) เพราะส่วนใหญ่ที่ดินอยู่ในมือของหน่วยงานราชการ แต่หากอยู่ในมือเอกชน กระทรวงมหาดไทยก็พร้อมที่จะทำความเข้าใจว่าในยามวิกฤติ(อาหารและพลังงาน)เช่นนี้ ต้องทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด" รมว.มหาดไทย กล่าว
ด้านนางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์สามารถขอคืนที่ราชพัสดุจากส่วนราชการมาได้แล้วประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกระทรวงกลาโหม ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุราษฎร์ธานี, นครสวรรค์ และนครราชสีมา ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5 แสนไร่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ โดยเชื่อว่าก่อนครบกำหนดในเดือน ก.ย. จะสามารถเรียกคืนที่ราชพัสดุได้ครบ 1 ล้านไร่ตามนโยบายของรัฐบาล
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--