โพลล์หอการค้าชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย-น้ำมันแพง ฉุดศก.โตลดลงเหลือ 4.5-5.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 24, 2008 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการชี้ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย และปัญหาน้ำมันแพง เป็นปัจจุบันสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ความรุนแรงคลี่คลายลงหลังรัฐบาลออกมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนโดยเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5%
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ 90.1% เห็นว่ามีผลกระทบทางลบต่อธุรกิจ โดย 26.6% มีหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น อีก 12.1% ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และ 13.6% การขยายการลงทุนลดลง
ส่วนราคาน้ำมันนั้น 75.4% ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะทำให้ราคาสินค้า และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่มีแผนรองรับแล้ว โดยเปลี่ยนไปใช้ก๊าซแอลพีจี 44.1% แก๊สโซฮอล์ 27.6% ก๊าซเอ็นจีวี 27.4% และไบโอดีเซล 0.9% สำหรับราคาดีเซลที่แบกรับภาระได้อยู่ที่ลิตรละ 35 บาท และเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 36 บาท
ขณะที่ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ส่วนใหญ่ตอบไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านยอดการส่งออก ต้นทุนการส่งสินค้า ยอดรับคำสั่งซื้อ และความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับสถานการณ์การเมืองนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนงานเดิม ทั้งการลงทุน การขยายตลาด และการขอสินเชื่อเพิ่ม แต่ส่วนหนึ่งยังรอดูสถานการณ์ และชะลอลงทุน ขยายตลาด และขอสินเชื่อเพิ่ม
"สถานภาพปัจจุบันของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านยอดขาย ค่าใช้จ่ายดำเนินการ หนี้สิน การปลดคนงาน ความสามารถใช้หนี้ ผลกำไร การขยายลงทุน สภาพคล่อง และการจ้างงาน มีเพียงต้นทุนเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการให้รัฐช่วยเหลือในการตรึงราคาพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ตรึงดอกเบี้ย ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้มากขึ้น และลดภาษี" นางยาใจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ 61.2% ต้องการให้ปรับใหญ่คณะรัฐมนตรี(ครม.) และไม่อยากให้ยุบสภา
สำหรับมาตรการลดปัญหาค่าครองชีพของประชาชนนั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำประปาเป็นอันดับ 1 หรือ 8.23 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน อันดับ 2 ชะลอขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในครัวเรือน 8.22 คะแนน ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า 8.21 คะแนน ขึ้นรถไฟชั้น 3 ฟรี 8.07 คะแนน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 7.99 คะแนน และขึ้นรถเมล์ฟรี 7.95 คะแนน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.5-5.5% ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งส่งผลให้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดสภาพคล่องมากขึ้น แต่ยังไม่รุนแรง และรับได้ ส่วนการเมืองแม้จะยังไม่มั่นคง แต่ก็ไม่เลวร้ายลง ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามแผนการเดิม ทั้งขยายการลงทุน และขยายตลาด
ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน แม้จะทำให้สูญรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก 0.3-0.5% และยังทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว หรือคาดขยายตัวในระดับ 7.2-7.8% รวมถึงยังมีข่าวดีอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ทั้งมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เปิดพื้นที่ของกรมธนารักษ์ขายสินค้า เร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ภายในปีนี้ เป็นต้น
"ในเดือนกรกฎาคมมีข่าวดีหลายอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งศูนย์ฯ ยังมองว่าขยายตัวได้แน่ที่ 5-5.5% และน่าจะถึง 6% ภายใต้การเมืองนิ่ง ราคาน้ำมันเฉลี่ย 120-125 เหรียญต่อบาร์เรล รัฐบาลลดราคาน้ำมัน มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เสริม 6 มาตรการ ซึ่งความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะกลับมาฟื้นตัวได้" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่กระทรวงการคลังจะทำให้ช่องว่างของดอกเบี้ยฝาก และกู้อยู่ที่ 2% โดยดึงเงินฝาก และกดดอกเบี้ยกู้ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่ขอให้ทำเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้มีรายได้น้อย หากทำเป็นวงกว้างจะกระทบโครงสร้างดอกเบี้ย โดยทำให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนแข่งดึงเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ตาม
ทั้งนี้ มหาสิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมือง จากผู้ประกอบการ 820 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-22 ก.ค.ที่ผานมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ