นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จะเสนอให้รมว.พาณิชย์ อนุมัติการปรับขึ้นราคาน้ำมันพืช โดยน้ำมันถั่วเหลืองปรับขึ้นขวดละ 4.50 บาท และน้ำมันปาล์ม ปรับขึ้นขวดละ 2.50 บาท ตั้งแต่ 1 ส.ค. ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการก่อน หากพบว่ามีการปรับราคาหรือกักตุนสินค้าจนทำให้ตลาดปั่นป่วน ทางการอาจจะยกเลิกการปรับขึ้นราคาก็ได้
"ตอนนี้อยู่ระหว่างเสนอให้ รมว.พาณิชย์ (นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์)พิจารณา พิจารณาอนุมัติก่อน จากนั้นถึงจะแจ้งให้ผู้ผลิตได้รับทราบเพื่อปรับราคาได้รับการอนุมัติ ดังนั้นตอนนี้ต้องขายราคาเดิม และหากพบการกักตุนหรือทำให้ตลาดปั่นป่วนก็จะจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หรืออาจให้ชะลอ หรือยกเลิกการปรับขึ้นราคาก็ได้" นายยรรยง กล่าว
นายยรรยง เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาจำหน่ายน้ำมันพืช เมื่อวันที่ 22 ก.ค.มีมติให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับขึ้นราคาจากขวดละ 47.50 บาท เป็นขวดละ 50 บาท จากที่ขอมา 56 บาท และน้ำมันถั่วเหลืองให้ปรับเพิ่มขึ้นจากขวดละ 49.50 บาท เป็น 54 บาท จากที่ขอมาขวดละ 67 บาท เพราะราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นมาก โดยกำหนดเบื้องต้นจะให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้
ขณะที่กรมการค้าภายในได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายน้ำมันพืชบรรจุขวดใน 4 จุดสำคัญ คือ โรงงานผลิต ศูนย์กระจายสินค้า ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) และร้านค้าปลีก โดยให้ตรวจสอบปริมาณสต๊อก ปริมาณการสั่งซื้ออย่างใกล้ชิด
นายยรรยง ยังกล่าวถึงการดูแลราคาสินค้า โดยยอมรับว่าผู้ผลิตได้ยื่นขอปรับราคาสินค้า 19 รายการตั้งแต่ต้นปี 51 โดย 14 รายการแรกเป็นสินค้าที่กรมมีอำนาจในการอนุมัติ ได้แก่ ยางรถยนต์, แบตเตอรี่, รองเท้านักเรียน, ปลากระป๋อง, น้ำปลา, ผักกาดกระป๋อง, น้ำยาซักฟอก ,กาแฟผง, กาแฟสำเร็จรูป, เส้นหมี่อบแห้ง, อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป), ยากำจัดยุงและแมลง, ยารักษาโรค และยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
ส่วนอีก 5 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม, น้ำมันพืช, เหล็ก อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี ต้องเข้าคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้าแต่ละรายการภายใต้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยขณะนี้มีเพียงน้ำมันพืชเท่านั้นที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการฯ ให้ขึ้นราคา ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและยังไม่ได้อนุมัติแต่อย่างใด
นายยรรยง กล่าวว่า กรมการค้าภายในกำลังพิจารณามาตรการต่างๆ ที่จะนำออกมาใช้ หากสถานการณ์ราคาสินค้ามีความรุนแรง โดยจะยึดราคาน้ำมันและเงินเฟ้อเป็นตัวหลัก ซึ่งหากพบว่าราคาน้ำมันและเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรุนแรง ก็จะมีมาตรการเข้มงวดกำกับดูแลสินค้านั้นๆ ควบคู่ไปกับการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้บริโภคเพิ่มเติม
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--