ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบเยน หลังยอดขายบ้านมือสองสหรัฐร่วงหนัก

ข่าวต่างประเทศ Friday July 25, 2008 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านมือสองที่ร่วงลงหนักสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 107.23 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 107.95 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0353 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0379 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.5671 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5687 ดอลลาร์/ยูโร เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9861 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9977 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.7422 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7444 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.9583 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9608 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
อังเดรส์ รีส นักวิเคราะห์จากยูนิเครดิต กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากสมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านมือสองประจำเดือนมิ.ย.ร่วงลง 2.6% แตะระดับ 4.86 ล้านยูนิตในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี และต่ำกว่าปีที่แล้วประมาณ 15.5%
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดขายบ้านมือสองในสหรัฐจะร่วงลงแตะ 4.94 ล้านยูนิตในเดือนมิ.ย. หลังจากที่ร่วงแตระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ที่ 4.89 ล้านยูนิตในเดือนม.ค.และ เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากสถาบัน Ifo รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีร่วงลงแตะระดับ 97.5 จุดในเดือนก.ค. จากระดับเดือนมิ.ย.ที่ 101.2 จุด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสถิติที่อ่อนตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2548 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะลดลงมาอยู่ที่ 100.1 จุด
ส่วนค่าเงินปอนด์ได้รับปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสถติแห่งชาติของอังกฤษที่ระบุว่า ยอดค้าปลีกร่วงลงกว่า 3.9% ในเดือนมิ.ย. หลังจากที่ขยายตัวกว่า 3.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ายอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.จะลดลง 2.6%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ