พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการจัดหารถโดยสาร NGV 6,000 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ควรจะปรับเปลี่ยนจากระบบการเช่ามาเป็นการจัดซื้อส่วนหนึ่งแล้วดำเนินการให้โปร่งใส รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งน่าจะนำรถเก่าที่มีอยู่ 3,500 คันมาปรับปรุง ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดเงินได้ดีกว่า
เนื่องจากแนวทางการจัดซื้อจะเสียงบประมาณซื้อตัวรถรวมกับค่าภาษีและกำไรของเอกชนเพียงคันละ 3.7 ล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 6,000 คัน จะใช้เงินเพียง 22,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น ขณะที่ระบบเช่าต้องใช้เงินมากกว่า 1.11 แสนล้านบาท หรือเท่ากับซื้อรถได้มากเกือบ 5 รอบ เพียงแค่ 2 ปีก็คุ้มทุนและมีกำไรในปีที่ 3 หรือเรียกว่าซื้อมาแล้วทิ้งไปหรือขายไปยังถูกกว่าการเช่าอย่างมาก
"ถ้าเช่า รัฐไม่ได้เสียงบประมาณเพียง1.11 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการให้พนักงานออกก่อนเกษียณที่ใช้เงินมากถึง 6,200 ล้านบาท เงินให้ยืมปลอดดอกเบี้ยอีก 3,500 ล้านบาท และเงินงบประมาณเพื่อจัดสรรเป็นค่าดอกเบี้ยให้กับ ขสมก.อีก 35,076 ล้านบาท หรือหนี้สินอีกกว่า 70,000 ล้านบาทที่ต้องโอนกลับไปให้กระทรวงการคลัง ที่สำคัญพนักงานที่ต้องถูกออก รวมทั้งเอกชนที่ได้รับสัมปทานเดินรถจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงให้เป็นรูปธรรมด้วย" รองนายกรัฐมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ในฐานะที่เป็นประธานวอร์รูมโครงการเช่ารถเมล์ 6,000 คัน ของกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประสานงานกับรัฐมนตรีที่ต้องการแสดงความคิดเห็นกับโครงการดังกล่าว เพื่อให้มาระดมความคิดเห็นกันวันที่ 30 ก.ค.ก่อนนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะมีเพียง 3 แนวทาง คือ การเช่า,การซื้อ และการเช่าซื้อ
"ผมยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะเป็นเรื่องของคนกทม.และปริมณฑล แต่สามารถใช้การตัดสินใจของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดก็พอแล้ว" พล.ต.สนั่น ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารงานของ ขสมก.ล้มเหลวมาโดยตลอด มีข้อบกพร่องในการบริหารงานจนนำไปสู่การขาดทุน หากนำระบบเช่ารถเมล์มาใช้จะมีหลักประกันอย่างไรว่าไม่มีช่องรั่วไหลหรือทุจริตเกิดขึ้น ซึ่ง ขสมก.จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาผู้บริหารที่มีฝีมือเข้ามาบริหารองค์กร
"จากประสบการณ์ที่มีมานาน เชื่อว่าโครงการของรัฐบาลที่มีคู่สัญญาเป็นเอกชนมักเกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาภายหลังทั้งนั้น ยิ่งในกรณีนี้ที่มีสัญญานานถึง 10 ปีจะมีอะไรมารับประกันว่าเอกชนจะไม่เบี้ยวสัญญา แล้วหาข้ออ้างสารพัด และหากเกิดการฟ้องร้องก็ต้องใช้เวลานานมากซึ่งจะทำให้รัฐและประชาชนเสียเปรียบ" รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
พร้อมมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพียงแต่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจ พิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในสังคมและเมื่อตัดสินใจไปแล้วก็พร้อมรับผิดชอบร่วมกับคณะรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งหรือคัดค้านโครงการนี้หรือต้องการนำมาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--