นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ โดยย้ำความจำเป็นในการดูแลปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของไทยยังมีช่องให้ปรับขึ้นได้อีกมาก เพราะอยู่ในระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่ ธปท.จะใช้แนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อจำเป็น
"แม้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ยังต่ำมากอยู่ที่ 3.5% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบ 6.6% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงติดลบ 1.6% ทั้ง 2 อัตราเป็นผลเสียกับเศรษฐกิจ ทำให้คนไม่ออมเงิน"นางธาริษา กล่าว
นางธาริษา กล่าวกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวานนี้ในหัวข้อ"Searching for a Second Wind:Overcoming Short-term Obstacles for Long-term Prosperity"ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากมีหลายสิ่งที่บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการเร่งตัวของเงินเฟ้อได้เริ่มส่งผลต่อแรงส่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการลงทุนภาคเอกชนได้ชะลอลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทำให้ความเสี่ยงของการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ล่าสุดวารสาร Asia Pacific Consensus Forecasts ได้ให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงใน 3 ไตรมาสนับจากนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 52
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เราจำเป็นต้องตระหนักว่าการที่เศรษฐกิจจะเติบโตในระดับสูงกว่าศักยภาพเป็นเวลานานเกินไปนั้น เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้นโยบายทางการเงินในการสร้างเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่ศักยภาพผลผลิตกำลังถดถอยลงเป็นการเร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความพยายามที่จะหยุดยั้งเงินเฟ้อในระยะต่อมาส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวของสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและผลผลิตลดลง ความล้มเหลวต่อการควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างเรื้อรัง แม้ว่าหลังจาก supply shocks ได้หมดไป นี่คือสาเหตุที่ธนาคารกลางยุคใหม่ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อว่าจะไม่อยู่ในระดับสูงจนเกินไป
สำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีเศรษฐกิจแบบเปิดดังเช่นประเทศไทยนั้น การควบคุมภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางด้านความสามารถในการแข่งขัน
"การควบคุมการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อจึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยรองรับเศรษฐกิจไทยจากความผันผวนด้านราคาในตลาดโลก" นางธาริษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่ถือว่าเลวร้ายอย่างที่ทุกคนคาดคิด ในความเป็นจริงแล้วทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจและกลยุทธ์การดำเนินนโยบายแบบผสมผสานนั้นยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ ดังนี้ ประเทศไทยยังคงมีฐานะภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 23, ฐานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้น, ภาคตลาดแรงงานยังคงไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น,
ภาคเอกชนมีความยืดหยุ่นและมีการปรับตัวเองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเศรษฐกิจ, ภาคธนาคารในขณะนี้มีความแข็งแกร่งมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อน จากที่ BIS ratio โดยรวมของทั้งภาคธนาคารยังคงสูงที่ 15.3% ในเดือน พ.ค. อีกทั้งสัดส่วน NPL รวม และ NPL สุทธิต่อยอดรวมสินเชื่อทั้งหมดลดลงตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปีก่อน นอกจากนี้ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของอันดับโลกที่เป็นประเทศน่าลงทุน
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--