พาณิชย์งัดมาตรการ 3 ระดับดูแลราคาสินค้า ยึดเกณฑ์น้ำมัน-เงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 28, 2008 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้จัดทำมาตรการดูแลราคาสินค้าตั้งแต่ต้นทาง(ผู้ผลิต) ถึงปลายทาง(ผู้บริโภค) โดยยึดปัจจัยราคาน้ำมันดีเซลและเงินเฟ้อเป็นเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 กรณี โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ก็จะมีความเข้มงวดแตกต่างกันไป 
"มั่นใจว่ามาตรการที่จะทำนี้ จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน พยุงไม่ให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มมากขึ้นจนเกินไป และส่งผลให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้นเกินไปเช่นกัน" นายยรรยง กล่าว
กรณีแรก อยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยทั้งปี 51 อยู่ที่ 33-34 บาท/ลิตร และเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 6-6.5% กรณีที่สอง ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย 34-35 บาท/ลิตร และเงินเฟ้อ 6.5-7% และกรณีสุดท้าย ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย 36-37 บาทลิตร และเงินเฟ้อตั้งแต่ 7% ขึ้นไป
นายยรรยง กล่าวว่า กรณีแรกเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.51 อยู่ที่ 33 บาท/ลิตร และเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 6.3% กรมฯ มีมาตรการดูแลราคาต้นทางในส่วนสินค้าที่ติดตามดูแล 200 รายการ และสินค้า/บริการควบคุม 35 รายการ ได้แก่ กำหนดราคาจำหน่าย ควบคุมราคาจำหน่าย แจ้งต้นทุน/ราคาจำหน่าย ชะลอการปรับราคา/ตรึงราคา มีคณะอนุกรรมการดูแลราคาเฉพาะในกลุ่มสินค้าเหล็ก ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์นม และยารักษาโรค รวมถึงดูแลราคาจำหน่ายทุยช่วงการขาย
ส่วนการดูแลปลายทาง สินค้า 700-1,000 ชนิด (40,000 รายการ) นั้น กรมฯ กำหนดให้ต้องปิดป้ายแสดงราคาขายปลีก กำหนดความสำคัญของสินค้าและจัดระบบติดตามภาวะราคาอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบแบบเข้ม รับเรื่องร้องเรียน รวมถึงให้ห้างค้าปลีกขายสินค้าในสต๊อกตามราคาเดิม ห้างแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาของผู้ผลิต(ซัพพลายเออร์) อีกทั้งยังจะช่วยลดค่าครองชีพด้วยการเพิ่มจุดร้านอาหารธงฟ้า อิ่มทั่วฟ้า มิตรธงฟ้า ธงฟ้าสู่ชุมชน ตลาดนัดธงฟ้า
กรณีที่สอง จะเพิ่มความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบสถานการณ์ราคาอย่างเข้มข้น ขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาให้นานที่สุด มีมาตรการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุน เช่น ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกทดแทนการนำเข้า เป็นต้น รวมถึงเพิ่มและขยายโครงการลดค่าครองชีพให้เป็นที่เชื่อถือ และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
กรณีที่ 3 ยังคงใช้มาตรการเดียวกับกรณีที่หนึ่งและสอง แต่จะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นอีกด้วยการกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด และส่วนเหลื่อมการตลาด(กำไรแต่ละช่วงการขาย) กรณีเกิดปัญหาราคาและปริมาณจะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และบริหารการนำเข้า-ส่งออก เช่น ห้ามส่งออกสินค้าที่จำเป็นอย่างรายการอย่างเหล็ก ปุ๋ยเคมี น้ำมันปาล์ม และอนุญาตให้นำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น น้ำมันปาล์มดิบ เป็นต้น รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลค่าบริการสาธารณะ เช่น ค่าขนส่ง ค่ารถโดยสาร ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา รวมทั้งยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ