ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: หวั่นสถาบันการเงินสหรัฐขาดทุนหนัก ฉุดดอลล์ร่วงเทียบเยน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 29, 2008 07:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 ก.ค.) เนื่องจากความกังวลที่ว่าสถาบันการเงินในสหรัฐอาจขาดทุนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลังเลที่จะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้
นักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐหลังจากนักวิเคราะห์ของเมอร์ริลระบุว่า เลห์แมนอาจขาดทุนในไตรมาส 3 และปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีรอบใหม่ในพอร์ตลงทุนด้านการจำนองที่อยู่อาศัย เป็นวงเงินราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งข่าวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐเข้ายึดธนาคารอีก 2 แห่งของสหรัฐที่ล้มละลายในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ เนชั่นแนล แบงค์ ออฟ เนวาดา และเฟิร์สท์ เฮริเทจ แบงค์ เอ็นเอ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับ 107.42 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 107.85 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0334 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0360 ฟรังค์/ดอลลาร์
ขณะที่ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5748 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5709 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.9940 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9905 ดอลลาร์/ปอนด์
สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7446 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7411 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.9567 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9561 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
แกรี สเทิร์น ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินเนโพลิสกล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ว่า "เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียงเล็กน้อย ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ระดับ 2% อาจต่ำเกินกว่าที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้"
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2548 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้น และเป็นการปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.7%
อาร์ชาฟ ไลดี นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "การแสดงความคิดเห็นของผู้ว่าการเฟดทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ แต่การคาดการณ์ดังกล่าวเริ่มแผ่วลงเมื่อตลาดถูกปกคลุมด้วยความกังวลเกี่ยวกับภาคการเงินในสหรัฐ หลังจากนักวิเคราะห์ของเมอร์ริลระบุว่า เลห์แมนอาจขาดทุนในไตรมาส 3 และปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีรอบใหม่ในพอร์ตลงทุนด้านการจำนองที่อยู่อาศัย เป็นวงเงินราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ และข่าวที่ว่ารัฐบาลสหรัฐเข้ายึดธนาคารอีก 2 แห่งที่ล้มละลายเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ เนชั่นแนล แบงค์ ออฟ เนวาดา และเฟิร์สท์ เฮริเทจ แบงค์ เอ็นเอ"
คณะทำงานประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช คาดการณ์ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณอาจพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.82 แสนล้านดอลลาร์ภายในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจทรุดตัวลง และรัฐบาลต้องนำเงินจำนวนมากไปใช้ในมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
สถาบันวิจัยตลาด GfK คาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีอาจร่วงแตะ 2.1 จุดในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2546 โดยลดลงจาก 3.6 จุดในเดือนก.ค. และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.5 จุด
GfK ระบุว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ความวิตกเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมถึงวิกฤตตลาดเงิน ทั้งหมดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นคง
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐ รวมถึง ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสสองซึ่งมีกำหนดจะเปิดเผยในวันพฤหัสบดี โดยนักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียล/ไอเอฟอาร์ คาดว่า GDP ไตรมาสสองของสหรัฐจะขยายตัว 2.4% เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการจ่ายคืนเช็คเงินภาษี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ