นักวิเคราะห์เชื่อว่า การประชุมรัฐมนตรีการค้า 35 ประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ประสบความล้มเหลวเป็นครั้งที่ 3 ในรอบหลายปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพการค้าโลก
การประชุมดังกล่าวยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากติดขัดในประเด็นภาษีสินค้าเกษตร โดยสหรัฐเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถขึ้นภาษีได้หากมีการนำเข้าสินค้าเกษตรสูงเกิน 40% แต่อินเดียเห็นว่า 40% เป็นระดับที่สูงเกินไปและควรลดต่ำลงกว่านี้
ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเชื่อว่าความล้มเหลวดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้
"ในระยะสั้นและระยะกลาง ผมเชื่อว่าสภาพการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายในตลาดโลกอย่างแน่นอน" คล็อด บาร์ฟิลด์ นักวิชาการจากสถาบัน American Enterprise Institute ในวอชิงตัน กล่าว
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเจรจาโดฮาซึ่งเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพ.ย.ปี 2544 ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกสูงสุด 850 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ด้าน WTO คาดการณ์ว่าจนถึงปัจจุบันข้อตกลงที่ทำร่วมกันมีมูลค่าราว 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาษีสินค้าในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วลดลงต่ำกว่าระดับ 5% จาก 40% เมื่อปี พ.ศ.2490
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา WTO รายงานว่า การค้าโลกมีการขยายตัวเกือบ 6% ต่อปีตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลผลิตทั่วโลกมีการขยายตัวเพียง 2% อย่างไรก็ตาม อัตราการค้าโลกอาจหดตัวลงเหลือ 4.5% ในปีนี้ เนื่องจากปัญหาในตลาดเงินทั่วโลก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--