นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการหัวข้อ“อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ" ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ด้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย ทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์, โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมในยุคผู้สูงวัย (Aging Society) และ ภาวะสิ่งแวดล้อม
รทมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยควรหันมาเอาจริงเอาจังกับการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน และ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับกับกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศที่เ่ห็นได้จากในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาแล้ว ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลก
การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เร็วที่สุด หลังชะลอเรื่องนี้มา 10 ปีแล้ว และการจัดตั้งกองทุนบำเน็จบำนาญแห่งชาติ ที่จำเป็นต้องมีการนำมาพิจารณาศึกษาอย่างเร่งด่วน เืพื่อมาเป็นหลักประกันและรองรับให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่อีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีประชากรกลุ่มนี้มากขึ้น ขณะที่วัยแรงงาน ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มลดลง
"ภาครัฐต้องเร่งเตรียมงบประมาณเพื่อช่วยในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น การสร้างหลักประกันให้กับผู้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างกับวัยก่อนหน้าเกษียณถือเป็นเรื่องสำคัญ รัฐจะต้องดึงงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ เช่น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแบ่งมาใช้ในการดูแล" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่้า การที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทุก 3 องศาจะส่งผลกระทบให้ GDP ของประเทศปรับลดลงอย่างน้อย 0-3% ดังนั้นทางออก คือ ต้องเร่งรณรงค์ให้ใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น รวมถึงการเร่งสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--