นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในขณะนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะต้องคิดนอกกรอบบ้าง ไม่ใช่ยึดติดตามหลักการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่ว่าเมื่อเงินเฟ้อสูงก็จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้มองว่ามีความน่าเป็นห่วงมากสำหรับนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหวังลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด และยิ่งทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
"ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติ การแก้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ทางออก ต้องคิดนอกกรอบ และอย่ากังวลเพียงว่านโยบายจากนักการเมืองที่มาจากกระทรวงการคลังจะทำเศรษฐกิจพัง แต่ที่เห็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติทำ(พัง)มาเยอะแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจครั้งหน้า จับตาให้ดีว่าจะเป็นแบงก์ชาติอีกที่ทำพัง เป็นความผิดซ้ำซาก ผมเข็ดขยาดมาก" นายวีรพงษ์กล่าว ในงานสัมมนา "อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจ"
ส่วนที่รัฐบาลออก "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อไทยทุกคน" นั้น เห็นว่าเป็นสิ่งที่เดินมาถูกทางแล้ว เพราะแม้จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นแต่ก็ช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ อีกทั้งยังไม่กระทบต่อวินัยการคลัง เพราะขณะนี้ยังมีปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง และยังมีช่องให้สามารถดำเนินนโยบายขาดดุลเพิ่มขึ้นได้
นายวีรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ทุกรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังคือแผนพัฒนาพลังงานระยะยาว ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากช้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงอยู่ในปัจจุบันมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ขายน้ำมันและเป็นคู่แข่งทางการค้าของไทยในเวลาเดียวกันด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--